เขตหนองแขม
บริเวณหนองแขมในอดีตมีสภาพเป็นที่ราบลุ่ม บางแห่งมีน้ำท่วมขังตลอด (หนองน้ำ) และมีต้นแขม (หญ้าขนาดสูงชนิดหนึ่ง) ขึ้นอยู่หนาแน่นเป็นพง ก่อนหน้านั้นเคยมีชื่อเรียกว่า “หนองน้ำแดง” แต่ถูกลืมไปแล้วจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2413 พระวินัยธร (คำ) เจ้าอาวาสวัดเชิงเลน ตำบลบางช้าง อำเภอสามพราน เมืองนครปฐม ได้สร้างวัดขึ้นที่ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งและตั้งชื่อวัดว่า “วัดหนองแขม” ตามลักษณะของพื้นที่ ส่วนชาวบ้านก็ได้ขุดบ่อไว้ริมหนองเพื่ออาศัยใช้น้ำจืดและเรียกว่า “บ่อหนองแขม”
ต่อมาบริเวณหนองแขมซึ่งมีคลองภาษีเจริญตัดผ่าน มีความเจริญและมีผู้คนเพิ่มขึ้น ในปี พ.ศ. 2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง อำเภอหนองแขม ขึ้นตรงต่อกระทรวงนครบาล เนื่องจากทรงเล็งเห็นว่า พื้นที่บริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาในย่านฝั่งตะวันตกของพระนครได้ โดยอำเภอหนองแขมสมัยนั้นแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองแขม ตำบลหนองค้างพลู ตำบลหลักหนึ่ง และตำบลหลักสอง และตั้งที่ว่าการอยู่หน้าโรงจับกัง (บ้านพักคนงาน) ของโรงสีเหลียงเฮงฮวดในปัจจุบัน จนถึงปี พ.ศ. 2452 จึงย้ายไปตั้งริมคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ บริเวณปากคลองมหาศร หมู่ที่ 5 ตำบลหนองแขม
หญ้าแขม
ชื่อสามัญ: Tall reed, Khagra reed
ชื่อวิทยาศาสตร์: Phragmites karka
วงศ์: POACEAE
ลักษณะทั่วไป: แขมเป็นวัชพืชน้ำจำพวกหญ้า มีอายุยืนหลายปี ลำต้นตั้งตรง สูงประมาณ 2-3 เมตร ชอบขึ้นเป็นกลุ่มใหญ่หนาแน่นตามพื้นที่ชื้นแฉะ ริมน้ำเปิดโล่ง มีเหง้าใหญ่แข็งแรง ใบเรียงสลับ รูปขอบขนาน ยาว 30-100 เซนติเมตร กว้าง 1-3 เซนติเมตร ปลายแหลมยาว โคนเป็นกาบหุ้มข้อ แผ่นใบหยาบกระด้าง กาบใบที่หุ้มลำต้นไม่มีขนคลุม ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ปลายยอด ช่อดอกมีขนาดใหญ่ สีเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อน ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ก้านดอกย่อยมีขนยาวปกคลุม ทำให้ช่อดอกฟูฟ่อง ดูนุ่มนวล ออกดอกเดือนธันวาคม-มิถุนายน
ถิ่นกำเนิด: เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบมากในภาคเหนือและกลาง