เคี่ยมคะนอง

เคี่ยมคะนอง

ต้นเคี่ยมคะนองพบกระจายพันธุ์ในประเทศแถบทวีปเอเชีย เช่น กัมพูชา ลาว มาเลเชีย พม่า เวียดนาม และไทย โดยพบมากในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ต้นเคี่ยมคะนองสามารถพบได้ทั่วประเทศไทย เพราะดูแลง่าย มีอัตราการเจริญเติบโต และการขยายพันธุ์ง่ายกว่าต้นเคี่ยม ต้นเคี่ยมคะนองมีเนื้อไม้ละเอียด แข็ง หนัก และเหนียว มีความทนทานสูงมาก ทนน้ำได้ดี จึงเหมาะกับการใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงและที่ต้องตากแดดตากฝน ต้นเคี่ยมคะนองยังมีสรรพคุณทางสมุนไพรใช้แก้อาการฟกบวม เน่าเปื่อย รักษาแผลและใช้เป็นยาสำหรับล้างแผล

ชื่อสามัญ : White Meranti, Meranti Sutera

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Shorea henryana Pierre

วงศ์ : DIPTEROCARPACEAE

ชื่ออื่น : เคี่ยม (นครราชสีมา ปราจีนบุรี), เชื่อม (สระบุรี นครราชสีมา), ชันรุ่ง สยา สายา (สงขลา), พนอง (ชลบุรี), เคียนทราย (ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้)

การแพร่กระจาย : ต้นเคี่ยมคะนองพบกระจายพันธุ์ในประเทศแถบทวีปเอเชีย เช่น กัมพูชา ลาว มาเลเชีย พม่า เวียดนาม และไทย โดยพบมากในป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ต้นเคี่ยมคะนองสามารถพบได้ทั่วประเทศไทย เพราะดูแลง่าย มีอัตราการโต และการขยายพันธุ์ง่ายกว่าต้นเคี่ยม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

ต้นเคี่ยมคะนองเป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สามารถสูงได้ถึง 35 เมตร ลำต้นเปลาตรง โคนต้นเป็นพูพอนใหญ่ตามอายุ ลำต้นกลม เรือนยอดเป็นพุ่มกว้างแบบรูปร่ม เปลือกต้นสีน้ำตาลแก่หรือน้ำตาลปนเทาอ่อน แตกเป็นร่องเล็กบ้างใหญ่บ้างตามยาวลำต้น และมีน้ำยางใสๆ สีเหลืองซึมออกมา เปลือกในสีส้มหรือเหลืองอ่อน กิ่งอ่อนมีขนยาวสีน้ำตาลแดงอมขมพู ใบเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ลักษณะใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ กว้างประมาณ 2.5–4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 4–8 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลม โคนใบทู่หรือกลม ใบอ่อนสีน้ำตาลอ่อน มีเกล็ดเล็กสีออกชมพูเรื่อๆ ปนกับขนสั้นสีดำ ใบแก่คล้ายแผ่นหนัง ด้านหลังมีนวล มีเขียวอมเทาและมีกระจุกขนสั้นสีน้ำตาลเข้ม ไม่มีตุ่มใบ หูใบรูปขอบขนานแกมรูปหอก ค่อนข้างติดทน ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบและปลายกิ่ง ช่อเล็กเรียวห้อยลง ยาวประมาณ 10-12 เซนติเมตร ดอกมีขนาดเล็ก สีขาวหรือขาวปนเหลืองอ่อน มีแต้มสีเหลืองด้านใน กลีบดอกรูปขอบขนาน บิดเป็นเกลียว ผลมีลักษณะคล้ายกับลูกของต้นยาง มีปีก 5 ปีก แบ่งเป็นปีกยาว 3 ปีก กว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 9 เซนติเมตร คล้ายแถบ ปลายทู่หรือกลม อีก 2 ปีกสั้นรูปขอบขนานแคบ กว้างประมาณ 0.7 เซนติเมตร ยาวประมาณ 6 เซนติเมตร ปลายแหลม ตัวผลรูปไข่ขนาดประมาณ 2.2 เซนติเมตร ปลายเรียว เกลี้ยง โคนปีกหุ้มผลมิด มีเกล็ดเป็นขุยหรือเกลี้ยง

ฤดูออกดอก : ต้นเคี่ยมคะนองออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม และติดผลในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน

การขยายพันธุ์ : การขยายพันธุ์ต้นเคี่ยมคะนองสามารถขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการตอนกิ่ง

การปลูก : ต้นเคี่ยมคะนองสามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกชนิด แต่เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนและดินร่วนปนทรายที่มีการระบายน้ำได้ดี และมีค่าความเป็นกรดเป็นด่างอยู่ที่ประมาณ 4.2-4.5 ต้นเคี่ยมคะนองเป็นไม้กลางแจ้ง ชอบแสงแดด ควรปลูกให้ได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ต้องการน้ำปานกลางถึงมาก และบรรยากาศที่มีความชื้นสูง เป็นไม้ที่ไม่ต้องดูแลในเรื่องของปุ๋ยมากนัก อาจจะมีการเติมปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอกเดือนละครั้งก็เพียงพอ

การใช้ประโยชน์ :

ต้นเคี่ยมคะนองมีเนื้อไม้ที่มีความละเอียด แข็ง หนัก และเหนียว มีความทนทานสูงมาก ทนน้ำได้ดี จึงเหมาะกับการใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงและที่ต้องตากแดดตากฝน เช่น ใช้ทำเรือ ทำไม้พื้น ไม้กระดาน ทำเสาหลักผูกเทียบเรือ ทำสะพานท่าเรือ ทำหมอนรองรางรถไฟ รวมถึงนำมาใช้ทำเครื่องใช้ต่างๆ ประโยชน์ทางสมุนไพรของต้นเคี่ยมคะนอง เช่น ยอด ราก ดอก และลำต้นใช้ตำพอกรักษาแผล แก้อาการฟกบวม เน่าเปื่อย ใช้ผสมกับเปลือกหว้าต้มเป็นยาบ้วนปาก ช่วยแก้อาการปากเปื่อย เปลือกต้นใช้เป็นยากลางบ้าน สำหรับช่วยห้ามเลือดจากบาดแผลสด ใช้เป็นยาสำหรับล้างแผล ชันจากไม้เคี่ยมใช้เป็นยาสมานแผล

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง