ชื่อและอักษรย่อในใบกำกับสารเคมีเกษตรหมายถึงอะไร

ชื่อและอักษรย่อในใบกำกับสารเคมีเกษตรหมายถึงอะไร

เมื่อมีความจำเป็นต้องซื้อสารเคมีทางการเกษตร เช่น สารกำจัดเมลง สารกำจัดโรคพืช หรือสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช (ฮอร์โมนพืช) ซึ่งมีขายมากมายหลายยี่ห้อในท้องตลาด บางครั้งก็มีชื่อยี่ห้อคล้ายกันบ้างต่างกันบ้าง ทำให้เกิดความสับสน โดยเฉพาะกับใบกำกับที่ติดมากับสารเคมีนั้น ซึ่งมีชื่อและอักษรย่อต่างกันไป ชื่อและอักษรย่อบนใบกำกับมีความหมายดังนี้

ชื่อการค้า (Trade name)

เป็นชื่อที่บริษัทผู้ขายสารเคมีตั้งขึ้นและจดทะเบียนใช้เป็นชื่อการค้าของบริษัทนั้น การตั้งชื่อการค้ามักตั้งชื่อเพื่อให้เกิดความน่าสนใจในตัวสินค้า บางครั้งก็ใช้ชื่อบริษัทร่วมกับชื่อที่แสดงความหมายว่าเป็นชื่อสารเคมีเกษตรนั้นหรือชื่อสามัญของสารนั้น บางครั้งก็ใช้ชื่อแสดงสรรพคุณของสารนั้น นอกจากนี้ยังอาจมีหลายบริษัทที่ผลิตสารเคมีชนิดเดียวกันแต่มีชื่อทางการค้าต่างกัน

ชื่อสามัญ (Common name)

เป็นชื่อสารเคมีเกษตรซึ่งทางวิชาการถือว่าเป็นชื่อกลางๆ และใช้กันทั่วไป เช่น แคปแทน (Captan) พาราไธออน (Parathion) มาลาไธออน (Malathion) เป็นต้น ดังนั้นการเลือกซื้อสารเคมีเกษตรจึงควรรู้จักชื่อสามัญของสารนั้น

ชื่อผูกขึ้น (Code name)

ผูกขึ้นจากชื่อเรียกตามภาษาทางเคมี ซึ่งมักเป็นชื่อที่ยืดยาว การผูกชื่อมักจะใช้อักษรหน้าของคำมาผูกใหม่สั้นๆ เมื่อเรียกนานๆ ไปก็เคยชินจนเป็นที่ทราบกันดี เช่น ดีดีที ย่อมาจากคำ Di-phynyl Di-ethyl Tri-chloroethane ซึ่งเป็นอินทรีย์เคมีสาร

ชื่อสารออกฤทธิ์ (Active ingredient หรือ a.i.)

หมายถึง เนื้อสารจริงๆ ที่จะแสดงผลต่อพืชได้ตามคุณสมบัติที่สารนั้นมีอยู่ มักจะบอกเป็นความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ในสารผสมทั้งหมด เช่น เปอร์เซ็นต์ของสารออกฤทธิ์ในสารผสมทั้งหมด หรือแสดงหน่วยน้ำหนักต่อปริมาตร บางบริษัทอาจใช้คำว่า สารสำคัญ แทนคำว่า สารออกฤทธิ์ บางครั้งก็ใช้ชื่อสารเคมี

สภาวะของสารเคมี

เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรศึกษาและพิจารณา สารเคมีอาจผลิตออกจำหน่ายในสภาวะต่างๆ กัน โดยเหตุผลที่ต่างกันไป บางทีก็ใช้อักษรย่อหรือคำเต็มแสดงสภาวะของสารเคมีเหล่านั้นติดไว้ที่ฉลากของภาชนะ ซึ่งมีความหมายดังนี้

คำย่อ คำเต็ม สภาวะ
WSC Water Soluble Concentrate
สารละลายเข้มข้น
เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปสารละลายใส เมื่อจะใช้จึงนำมาผสมน้ำ จะได้สารละลายใสเช่นกัน
EC Emulsifiable Concentrate
สารละลายน้ำมัน
สารละลายบางชนิดละลายได้ดีในน้ำมัน จึงต้องเตรียมอยู่ในรูปน้ำมัน แต่สารที่อยู่ในรูปน้ำมันนี้เมื่อนำไปผสมกับน้ำจะไม่รวมเป็นเนื้อเดียวกัน ทางผู้ผลิตจึงผสมสารที่ช่วยให้น้ำมันกับน้ำรวมตัวกันได้ดีขึ้นและไม่แยกชั้น เรียกสารนี้ว่า Emulsifier ผลิตภัณฑ์ในรูปนี้เมื่อผสมกับน้ำจะได้สารผสมที่มีลักษณะขุ่นเหมือนน้ำนม แต่ไม่ตกตะกอนหรือแยกชั้น
SC Suspension Concentrate
สารแขวนลอยเข้มข้น
เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะขุ่นคล้ายแป้งผสมน้ำ เมื่อจะใช้จึงนำมาผสมน้ำ จะได้สารผสมซึ่งขุ่นคล้ายแป้งผสมน้ำเช่นกัน
WSP Water Soluble Power
ผงละลายน้ำ
เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปผง เมื่อจะใช้จึงนำมาผสมน้ำ จะได้สารละลายใสไม่ตกตะกอน
WP Wetable Power
ผงเปียกน้ำ
เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปผง เมื่อจะใช้จึงนำมาผสมน้ำ จะได้สารแขวนลอยลักษณะขุ่นคล้ายแป้งผสมน้ำ ผลิตภัณฑ์ในรูปนี้มักมีส่วนผสมของสารที่มีคุณสมบัติผลักดันอนุภาคของแข็งชนิดเดียวกันให้แยกออกจากกัน ทำให้อนุภาคเล็กๆ เหล่านี้แขวนลอยอยู่ได้นานโดยไม่ตกตะกอน เรียกสารชนิดนี้ว่า Dispersants
D Dust
ผง
เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปผง เตรียมขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ได้โดยตรง ไม่ต้องผสมน้ำหรือสารใดๆ อีก
G Granule
เม็ด
เป็นผลิตภัณฑ์ที่เตรียมเป็นเม็ดเพื่อใช้ประโยชน์ได้โดยตรง หรือละลายน้ำก่อนนำไปใช้
P Paste
ครีม
เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในรูปของสารกึ่งแข็งกึ่งเหลว เตรียมขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์ได้โดยตรง โดยการทาหรือป้ายในบริเวณที่ต้องการ
F Fumigant
รมควัน
อาจเป็นผงหรือนำมาอัดเป็นเม็ดหรือเป็นน้ำ แต่เมื่อจะใช้งานนำมาทำให้เป็นควัน ใช้รม
A Aerosol
ละออง
เตรียมอยู่ในภาชนะที่มีแรงอัดอยู่ภายใน เมื่อพ่นจะกระจายออกมาเป็นหมอกละออง หรือที่มักเรียกกันว่าสเปรย์

สารเคมีที่มีสภาวะต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ผู้ผลิตมีความประสงค์ที่จะทำให้สารเคมีมีสภาวะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อประโยชน์ในการใช้โดยเฉพาะ จึงจำเป็นต้องระมัดระวังในการใช้ให้ถูกต้อง เพื่อให้สารเคมีเหล่านั้นอำนวยประโยชน์ตามความมุ่งหมายได้อย่างเต็มที่

ความเข้มข้นของสารเคมี

สารเคมีเกษตรที่จำหน่ายในท้องตลาดทั่วๆ ไปประกอบขึ้นด้วยเนื้อสารเคมีซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์และสารอื่นๆ ที่ใส่เป็นสารผสม เพื่อให้มีความเข้มข้นตามประสงค์ บางทีอาจพบว่ามีสารเคมีที่ใช้ชื่อทางการค้าต่างกัน เมื่ออ่านดูจะพบว่าเป็นสารเคมีชนิดเดียวกัน แต่มีความเข้มข้นหรือเปอร์เซ็นต์สารออกฤทธิ์สูงต่ำต่างกัน เช่น 25 เปอร์เซ็นต์ ย่อมมีเนื้อสารออกฤทธิ์สูงเป็น 5 เท่าของ 5 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น ดังนั้นการใช้สารเคมีเกษตรจะใช้มากน้อยเท่าใด หรือมีความเข้มข้นแค่ไหน ย่อมขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของเนื้อสารออกฤทธิ์ที่มีอยู่ในสารเคมีนั้น ส่วนการพิจารณาเปรียบเทียบราคาก่อนตกลงซื้อ ก็ควรจะเปรียบเทียบจากความเข้มข้นที่ต่างกันด้วย โดยคิดว่า ถ้าหากเนื้อสารออกฤทธิ์ที่แท้จริงอยู่ในสารเคมีปริมาณเท่าๆ กันแล้ว ชนิดไหนถูกแพงกว่ากัน การบอกความเข้มข้นของสารเคมีเกษตรมีดังนี้

ความเข้มข้น ความหมาย
เปอร์เซ็นต์
%
จำนวนส่วนใน 100 ส่วน เช่น NAA 5% หมายความว่าในสารละลาย 100 ส่วน จะมี NAA อยู่ 5 ส่วน
โมล่าร์
Molar
ปริมาณกรัมโมเลกุลของสารในสารละลาย 1 ลิตร เช่น IAA มีความเข้มข้น 1 โมล่าร์ หมายความว่า ในสารละลาย 1 ลิตร จะมี IAA อยู่ 1 กรัม โมเลกุล ซึ่ง IAA มีน้ำหนักโมเลกุลเท่ากับ 175.2 กรัมต่อโมล
น้ำหนักต่อปริมาตร
weigth per volume , w/v
น้ำหนักของเนื้อสารในสารผสมหนึ่งปริมาตร เช่น 1 กรัมต่อลิตร หมายความว่ามีเนื้อสารอยู่ 1 กรัม ในสารละลาย 1 ลิตร
น้ำหนักต่อน้ำหนัก
weigth per volume , w/w
น้ำหนักของเนื้อสารในสารผสมหนึ่งน้ำหนัก เช่น 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หมายความว่ามีเนื้อสารอยู่ 1 มิลลิกรัม ในสารผสม 1 กิโลกรัม
ส่วนต่อล้านส่วน
part per million , ppm
จำนวนส่วนของเนื้อสารในสารละลาย 1 ล้านส่วน เช่น SADH 1,000 ppm หมายถึงสารละลาย 1 ล้านส่วน มี SADH 1,000 ส่วน

ตัวอย่างเช่นสารกำจัดแมลงซึ่งมีชื่อสามัญ อะบาเม็กติน (Abamectin) ของสองบริษัทซึ่งมีชื่อการค้าต่างกัน คือ อาบาเม็กซ์ และ อะบาแมค แต่มีชื่อสามัญและความเข้มข้นเหมือนกันคือ Abamectin 1.8% W/V EC ความหมายก็คือ สาร Abamectin ความเข้มข้น 1.8% หรือ สารละลาย 100 มิลลิลิตร(cc) มีสาร Abamectin 1.8 กรัม และเป็นสารละลายน้ำมัน ดังนั้นสารกำจัดแมลงของทั้งสองบริษัทจึงใช้แทนกันได้

เอกสารอ้างอิง
  • ฮอร์โมนพืชและสารสังเคราะห์ แนวทางการใช้ประโยชน์ในประเทศไทย, พีรเดช ทองอำไพ, ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ฮอร์โมนพืชและสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช, นพดล จรัสสัมฤทธิ์, สำนักพิมพ์รั้วเขียว
  • กล้วยไม้, ศาสตราจารย์ระพี สาคริก, มูลนิธิตระการศักดิ์ มณีภาค, สำนักส่งเสริมและฝึกอบรม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เกร็ดพรรณไม้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง