พิษของสารเคมีฆ่าแมลงและการป้องกัน

พิษของสารเคมีฆ่าแมลงและการป้องกัน

สารเคมีฆ่าแมลงไม่เพียงแต่เป็นพิษเฉพาะกับแมลงเท่านั้น ยังเป็นพิษและเป็นอันตรายกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกด้วย เช่น คนหรือสัตว์ ถึงแม้ว่าสารเคมีบางชนิดจะมีเอกสารบอกว่าไม่เป็นอันตรายกับคน แต่ก็ไม่สามารถรับประกันได้แน่นอนถึงความไม่เป็นอันตรายนั้นได้ เนื่องจากสารเคมีเป็นพิษกับแมลงก็ย่อมเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นเช่นกัน สารเคมีเป็นพิษทุกชนิดแต่ความรุนแรงอาจแตกต่างกันไป สารเคมีสามารถเข้าสู่คนได้ 3 ทางด้วยกันคือ

  1. ทางปาก โดยการรับประทานเข้าไปโดยไม่รู้ตัว เช่น การรับประทานพืช ผัก ผลไม้ ที่มีสารเคมีฆ่าแมลงปนเปื้อนอยู่ การดื่มน้ำในขณะฉีดสารพิษ การตั้งภาชนะใส่อาหารไว้ใกล้บริเวณขณะฉีดพ่นสารเคมีฆ่าแมลง
  2. ทางระบบหายใจ คือการได้รับสารพิษขณะฉีดพ่นโดยการหายใจทางปากหรือจมูกสารพิษพัดปลิวมากับลมแล้วหายใจเข้าไป ทำให้เกิดพิษกับร่างกายได้
  3. ทางผิวหนัง โดยการแทรกซึมของสารพิษเข้าทางผิวหนัง เช่น ละอองสารพิษปลิวถูกผิวหนัง สารพิษหกโดนผิวหนัง อันตรายจากสารพิษอาจไม่แสดงอาการทันที แต่อาจสะสมไว้ในร่างกายแล้วแสดงอาการภายหลัง จนไม่อาจทราบสาเหตุของอาการเจ็บป่วย ลักษณะอาการที่เกิดจากสารเคมีฆ่าแมลงอาจมีอาการ เช่น อาจเกิดฤทธิ์ทำลายระบบประสาท สายตาฝ่าฟาง มือสั่น หัวสั่น บางครั้งปวดศีรษะอย่างรุนแรงจนถึงชีวิตได้

การฉีดพ่นยากำจัดแมลงศัตรูพืชอย่างปลอดภัย

เนื่องจากยากำจัดแมลงศัตรูพืชเป็นสารเคมีที่มีพิษเกือบทุกชนิด ดังนั้นการใช้ยาจำพวกนี้จึงจำเป็นต้องใช้อย่างระมัดระวังที่สุด ไม่เช่นนั้นแล้วอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ฤทธิ์ของยาอาจจะไม่แสดงอาการเลยทันที แต่อาจสะสมในร่างกาย และมีผลภายหลังได้ การใช้ยากำจัดศัตรูพืช จึงควรปฏิบัติดังต่อไปนี้

  1. ก่อนใช้ยากำจัดศัตรูพืชจะต้องทราบก่อนว่า พืชนั้นเป็นโรคหรือถูกแมลงชนิดใดทำลาย เมื่อทราบแล้วจึงหายากำจัดศัตรูพืชตามชนิดของแมลงศัตรูนั้นๆ
  2. ควรอ่านวิธีใช้ยาจากฉลากที่ปิดไว้ข้างขวดว่ามีวิธีใช้อย่างไร และเมื่อเกิดอาการแพ้สารดังกล่าวแล้วควรปฏิบัติอย่างไร
  3. หากต้องมีส่วนผสมกับส่วนผสมชนิดอื่นไม่ควรใช้มือคนหรือกวนโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้สารเคมีซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกาย และเป็นอันตรายได้ ควรใช้วัสดุอุปกรณ์อื่นช่วย เช่น ไม้
  4. ก่อนฉีดพ่นยาควรสวมถุงมือและหน้ากากป้องกันละอองของสารพิษ
  5. ขณะพ่นยาต้องอยู่เหนือลมเสมอ
  6. ห้ามดื่มน้ำ กินอาหารหรือสูบบุหรี่ ขณะฉีดพ่นยา
  7. ขณะฉีดพ่นยา ไม่ควรนำเด็ก สัตว์เลี้ยง อาหาร และเครื่องดื่ม เข้าใกล้บริเวณนั้น
  8. เมื่อเลิกฉีดแล้วต้องล้างมือ และส่วนต่างๆ ของร่างกายให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำมากๆ
  9. น้ำยาและเครื่องมือที่ใช้ต้องล้างให้สะอาด และเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัยจากเด็ก และผู้ที่รู้เท่าไม่ถึงการ นำมาใช้หรือไม่ทราบถึงอันตรายของยานั้น
  10. หลังพ่นยาเสร็จแล้วต้องอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า และซักชุดที่สวมทำงานให้สะอาด
  11. ไม่ควรเข้าไปใกล้บริเวณที่ฉีดพ่นยาเสร็จใหม่ๆ เพราะอาจเป็นอันตรายได้
  12. ภาชนะบรรจุสารพิษเมื่อใช้หมดแล้วต้องทำลายแล้วฝังดินเสีย (ห้ามเผาไฟ)
  13. ห้ามเทสารที่เหลือ หรือล้างภาชนะบรรจุ อุปกรณ์ เครื่องพ่นลงในแม่น้ำลำคลองโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันมิให้เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำ และผู้ใช้น้ำ
  14. สารพิษฉีดพ่นแมลงเป็นพิษต่อผึ้ง ไม่ควรใช้ขณะที่พืชกำลังออกดอก
  15. ล้างมือและหน้าให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่ก่อนรับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือสูบบุหรี่
  16. หลังจากฉีดพ่นสารพิษครั้งสุดท้ายแล้ว 14–15 วัน จึงเก็บผลผลิตกินได้

อาการที่เกิดจากการแพ้สารพิษ

ผู้ที่ได้รับสารพิษจากยากำจัดศัตรูพืชพบว่ามีอาการดังต่อไปนี้

  1. อ่อนเพลีย
  2. ปวดศีรษะ
  3. แน่นหน้าอก
  4. มองเห็นภาพได้ลางเลือน ม่านตาหรี่
  5. น้ำลายและเหงื่อออกมาก
  6. คลื่นไส้ อาเจียน
  7. ท้องร่วง และปวดท้อง

การปฐมพยาบาลเบื้องต้นสำหรับผู้ได้รับสารพิษ

  1. ถ้าสารพิษถูกผิวหนัง ให้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากบริเวณที่มีสารพิษ
  2. ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารพิษออก
  3. รีบขำระร่างกายของผู้ป่วยให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่
  4. ให้ผู้ป่วยพักผ่อนในที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวกและอบอุ่น
  5. ถ้าสารพิษเข้าตาให้ล้างด้วยน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง
  6. ถ้าสารพิษเข้าปากให้บ้วนปากด้วยน้ำสะอาดหลาย ๆ ครั้ง
  7. ถ้าหากมีอาการหายใจติดขัด ให้ใช้เครื่องช่วยหายใจ และรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันทีพร้อมด้วยภาชนะบรรจุ และฉลากวัตถุมีพิษนั้น

คำแนะสำหรับแพทย์

  1. ใช้เครื่องช่วยหายใจในรายที่หายใจติดขัด
  2. ให้ atropine sulfate ขนาด 2–4 mg ทาง IV จนกระทั่งอาการขาดออกซิเจนหายไป แล้วฉีดซ้ำทุก 5–10 นาที จนกระทั่งเกิดอาการ atropinization (ตัวและหน้าแดง หัวใจเต้นเร็วอาจถึง 140 ครั้งต่อนาที)
  3. ให้สังเกตอาการผู้ป่วยทุก 48 ชั่วโมง และห้ามไม่ให้ผู้ป่วยสัมผัสหรือรับประทานยาที่เป็น cholinesterase inhibitor จนกว่าร่างกายจะสามารถสร้าง cholinesterase ได้ซึ่งจะทดสอบได้โดยการตรวจเลือด
  4. ห้ามใช้ยาจำพวก morphine

เกร็ดพรรณไม้

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง