“ปุ๋ย” ทำไมถึงต้อง…ละลายช้า
ปุ๋ยละลายช้าคืออะไร
ปุ๋ยละลายช้า คือ ปุ๋ยเคมีที่บรรจุอยู่ในสารเคลือบโพลิเมอร์ชนิดพิเศษ สารเคลือบชนิดนี้ออกแบบมาให้ปุ๋ยที่บรรจุอยู่ภายในค่อยๆ ละลายปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องเป็นเวลานาน พอเหมาะกับความต้องการของพืช ทำให้พืชได้อาหารอย่างเพียงพอและต่อเนื่องตลอดช่วงอายุของพืช ดังนั้นการใส่ปุ๋ยจึงใส่เพียงครั้งเดียวก็สามารถอยู่ได้นาน จึงแตกต่างจากปุ๋ยธรรมดาทั่วไปที่ละลายน้ำอย่างรวดเร็ว และสลายธาตุอาหารออกมาอย่างสูง ใน 2–3 วันแรก แล้วปริมาณปุ๋ยจะลดอย่างรวดเร็วและหมดไปในเวลาอันสั้น
ปุ๋ยละลายช้าทำงานอย่างไร
การทำงานของปุ๋ยละลายช้าจะเริ่มขึ้นทันทีที่สัมผัสกับความชื้นในดินหรือเครื่องปลูกที่เปียกชื้น เม็ดปุ๋ยจะเริ่มดูดซึมน้ำผ่านพื้นผิวของสารเคลือบซึ่งเป็นรูเล็กมากเข้าไปละลายธาตุอาหารภายใน ธาตุอาหารภายในซึ่งมีความเข้มข้นสูงจะค่อยๆ ซึมผ่านเปลือกของโพลิเมอร์ที่เคลือบไว้ออกมาทีละน้อย คล้ายขบวนการออสโมซึส (OSMOSIS) ธาตุอาหารนี้จะค่อยๆ แพร่กระจายไปยังบริเวณรากพืชในปริมาณที่สม่ำเสมอทุกวัน สังเกตได้จากเม็ดปุ๋ยจะเริ่มใสขึ้น จนเมื่อปุ๋ยภายในเม็ดหมด จะเห็นเม็ดปุ๋ยใสที่มีแต่น้ำอยู่ข้างใน หรือเม็ดปุ๋ยนั้นจะแฟบหรือเหี่ยวแห้งไป ส่วนของเปลือกโพลิเมอร์นั้นจะค่อยๆ สลายตัวไปเองตามธรรมชาติ ดังนั้นปุ๋ยละลายช้าจึงต่างจากปุ๋ยทั่วไปที่ ปุ๋ยทั่วไปจะละลายน้ำทันทีที่สัมผัสน้ำ ธาตุอาหารจะหมดไปในระยะเวลาอันสั้น ส่วนปุ๋ยละลายช้าจะเก็บธาตุอาหารไว้ภายในเม็ดได้นานเป็นเดือนๆ
ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปลดปล่อยธาตุอาหาร
อัตราการปลดปล่อยธาตุอาหารของปุ๋ยละลายช้าจะถูกควบคุมโดยอุณหภูมิของดินแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าอุณหภูมิในดินสูง อัตราการปลดปล่อยธาตุอาหารจะเร็วขึ้นพอเหมาะกับอัตราการเจริญเติบโตของพืชที่เพิ่มขึ้นเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าอุณหภูมิต่ำลง พืชเจริญเติบโตช้า ปุ๋ยละลายช้าก็จะปลดปล่อยธาตุอาหารน้อยลงพอเหมาะต่อความต้องการของพืชเช่นกัน อัตราการปลดปล่อยธาตุอาหารของปุ๋ยละลายช้าไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ซึ่งปกติแล้วอัตราการปลดปล่อยธาตุอาหารของปุ๋ยธรรมดาทั่วไปจะขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้คือ
- ความเป็นกรดด่างของดิน (pH)
- ระดับความชื้นในดิน
- ชนิดของดิน
- จุลินทรีย์ในดิน
- ความเข้มข้นของธาตุอาหารในดิน
ยกตัวอย่างเช่น อัตราการปลดปล่อยธาตุอาหารของปุ๋ยละลายช้าในดินที่มีอุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส จะปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาได้เป็นระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ถ้าอุณหภูมิในดินประมาณ 30 องศาเซลเซียส จะทำให้การปลดปล่อยเร็วขึ้น ระยะเวลาการปลดปล่อยธาตุอาหารจะสั้นลง ทำให้ปุ๋ยละลายช้าปลดปล่อยธาตุอาหารออกมาได้เป็นระยะเวลาประมาณ 2-2.5 เดือน
ข้อดีของปุ๋ยละลายช้า
- ไม่เป็นอันตรายต่อพืช ไม่ทำให้เกิดอาการรากไหม้และใบไหม้ จึงสามารถใส่ชิดบริเวณรากพืชได้
- ให้ธาตุอาหารแก่พืชอย่างสม่ำเสมอ และสัมพันธ์กับอัตราการเจริญเติบโตของพืช คือ เมื่ออุณหภูมิสูงพืชจะเติบโตเร็ว ก็จะปลดปล่อยธาตุอาหารให้เร็วขึ้นด้วย
- ไม่เกิดการชะล้างธาตุอาหาร (เนื้อปุ๋ย) เนื่องจากน้ำที่ใช้รด หรือ น้ำฝน
- ใส่เพียงครั้งเดียว ต้นไม้จะได้รับธาตุอาหารได้ยาวนานถึง 3 – 6 เดือน ทำให้ประหยัดแรงงานและเวลา
- ขนาดของเม็ดสม่ำเสมอ ไม่แตกเป็นผง เหมาะที่จะใช้กับเครื่องหว่านปุ๋ย
ข้อเสียของปุ๋ยละลายช้า
- มีราคาแพงเมื่อเทียบกับปุ๋ยธรรมดาทั่วไป
- มีสูตรปุ๋ยให้เลือกใช้ไม่มากนัก
วิธีใช้ปุ๋ยละลายช้า
- รองก้นหลุม (dibbling) วิธีนี้เป็นวิธีที่ให้ผลดีที่สุด เหมาะสำหรับไม้กระถาง, ไม้ผล และพืชยืนต้นทุกชนิดที่ปลูกใหม่ โดยการเจาะหรือขุดหลุม โรยปุ๋ยตามความต้องการใช้ดินกลบปุ๋ยเพียงเล็กน้อยวางต้นไม้ลงในหลุมกลบดิน แล้วรดน้ำตามปกติ
- โรยหน้าดิน (top-dressing) ใช้ได้กับพืชทุกชนิด ส่วนใหญ่ใช้ปุ๋ยเพิ่มเติมเมื่อการให้ปุ๋ยครั้งก่อนหมดลง โดยการโรยเม็ดปุ๋ยลงบนผิวดินบริเวณโคนต้นหรือรอบทรงพุ่ม ระวังเวลารดน้ำอย่าใช้น้ำฉีดแรง เพราะจะทำให้เม็ดปุ๋ยกระเด็นออกไป อาจคัดแปลงวิธีการใส่ปุ๋ยโดยการเจาะรูเล็ก 2–3 รูรอบโคนต้น ใส่ปุ๋ยตามความต้องการแล้วกลบดินวิธีการนี้ได้ผลดีกว่า แต่สิ้นเปลืองเวลา
- ผสมกับดินปลูก (mixing) วิธีการนี้เหมาะสำหรับเมื่อต้องการปลูกพืชจำนวนมาก
โดยผสมปุ๋ยไปกับดินผสมให้ทั่วแล้วปลูกตามปกติ ข้อควรระวัง คือ การผสมระมัดระวังอย่าให้เม็ดปุ๋ยแตกและเมื่อผสมเสร็จแล้วควรใช้ดินผสมภายในเวลาไม่เกิน
1 สัปดาห์ - การหว่าน (broadcasting) เหมาะสำหรับสนามหญ้าสนามกีฬาและสวนสาธารณะต่างๆ โดยการหว่านให้ทั่วตามอัตราที่กำหนด สำหรับสนามหญ้าที่ตัดสั้นมาก เช่น บนกรีนของสนามกอล์ฟ ต้องใช้วิธีเจาะเป็นรูเล็กๆ แล้วใส่ปุ๋ยลงไปในรูนั้น
อัตราการใช้ปุ๋ยละลายช้า
ไม้กระถาง ถ้าเป็นไม้ปลูกใหม่จะใช้วิธีรองก้นหลุมหรือผสมกับดินปลูกก็ได้ ถ้าเป็นไม้ที่ปลูกแล้วหรือใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมเมื่อการให้ปุ๋ยครั้งก่อนหมดลง ให้โรยปุ๋ยรอบ ๆ ขอบกระถาง โดยใช้อัตราปุ๋ยดังนี้
- กระถางขนาด 6 นิ้ว ใช้ประมาณ 5 กรัม / กระถาง (1 ช้อนชา)
- กระถางขนาด 8 นิ้ว ใช้ประมาณ 10 กรัม / กระถาง (2 ช้อนชา)
- กระถางขนาด 10 นิ้ว ใช้ประมาณ 15 กรัม / กระถาง (3 ช้อนชา)
- กระถางขนาด 12 นิ้ว ใช้ประมาณ 20 กรัม / กระถาง (4 ช้อนชา)
พืชในแปลงเพาะชำ ใช้ในอัตรา 2.5–3 กิโลกรัม / ดิน 1 ลูกบาศก์เมตร โดยคลุกปุ๋ยลงไปในดินปลูกให้ทั่ว สำหรับแปลงไม้ตัดดอก ไม้พุ่มเตี้ยๆ ไม้ใบ ใช้ในอัตรา 4–6 กิโลกรัมต่อ 100 ตรม. (40-60 กรัมต่อ 1 ตรม) โดยหว่านให้ทั่วแปลง สำหรับไม้ผลหรือไม้ยืนต้น ใช้อัตราปุ๋ยดังนี้
- กล้าไม้ที่ปลูกใหม่ ใช้ในอัตรา 20–40 กรัม/ต้น รองก้นหลุมปลูก
- ไม้ที่ตั้งตัวได้แล้วขนาดเล็ก ใช้ในอัตรา 50 กรัม/ต้น โรยหน้าดิน
- ไม้ที่ตั้งตัวได้แล้วขนาดกลาง ใช้ในอัตรา 100 กรัม/ต้น โรยหน้าดิน
- ไม้ที่ตั้งตัวได้แล้วขนาดใหญ่ ใช้ในอัตรา 140–200 กรัม/ต้น โรยหน้าดิน
อัตราการใช้ข้างต้นเป็นเพียงแนวทางในการใช้ปุ๋ยละลายช้าเท่านั้น ควรศึกษารายละเอียดการใช้จากบริษัทผู้ขายอีกครั้งก่อนใช้
ตัวอย่างสูตรปุ๋ยละลายช้าที่มีจำหน่าย
- ยี่ห้อออสโมโค้ท ออสโมโค้ท-พลัส 16-8-12+2 Mgo+อาหารเสริม (6 เดือน) , ออสโมโค้ท 14-14-14 (3 เดือน)
- ยี่ห้อนูตริพราย สูตรที่มีจำหน่าย 24-8-16, 17-17-17, 39-0-0, 12-0-34, 10-46-00, 16-8-27, 18-6-12+ME (มีธาตุอาหารรอง Fe, Mn, Mo, Cu, B, Mgo)
เกร็ดพรรณไม้
- สูตรคำนวณจำนวนกลีบดอกไม้…มีด้วยหรือ ?
- ลีลาวดี…ไม่ใช่ชื่อพระราชทาน
- ต้นไม้…ดอกไม้…ประจำชาติไทย
- หัว…ไหล…เหง้า…แง่ง..ง…งง?
- พรรณไม้งามนาม…” ควีนสิริกิติ์ “
- ไม้ยืนต้น…ไม้พุ่ม…ไม้ล้มลุก…ไม้เถา…ไม้เลื้อย…
- “ปุ๋ย” ทำไมถึงต้อง…ละลายช้า
- พิษของสารเคมีฆ่าแมลงและการป้องกัน
- ดอกจำปี กับ ดอกจำปา ต่างกันตรงไหน
- ชื่อและอักษรย่อในใบกำกับสารเคมีเกษตรหมายถึงอะไร
- ทำอย่างไรให้ดอกไม้ปักเจกันอยู่ได้นาน
- ตารางธาตุอาหารของปุ๋ยคอก
- พืชจะแสดงอาการอย่างไรเมื่อขาดธาตุอาหาร
- ข้อดี ข้อด้อย ของการใช้ ปุ๋ยเคมี และ ปุ๋ยอินทรีย์