ต้นไม้…ดอกไม้…ประจำชาติไทย
จากอดีตที่ผ่านมากว่า 50 ปี ทางราชการมีความพยายามหลายครั้งในการกำหนดให้มีสัญลักษณ์ประจำชาติไทย โดยเฉพาะการกำหนด ต้นไม้ และ ดอกไม้ ประจำชาติ เริ่มต้นที่กรมป่าไม้ได้ชักชวนให้ประชาชนสนใจต้นราชพฤกษ์หรือคูณมาตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ.2494 โดยรัฐบาลมีมติให้ถือวันที่ 24 มิถุนายน เป็นวันต้นไม้ประจำปีของชาติ (arbour day) มีการชักชวนให้ปลูกต้นไม้ที่มีประโยชน์ชนิดต่างๆ มากมาย ในขณะเดียวกันก็ได้มีการเสนอว่า ต้นราชพฤกษ์ น่าจะถือเป็นต้นไม้ประจำชาติ
กระทั่งในปี พ.ศ.2506 มีการประชุมเพื่อกำหนดสัญลักษณ์ต้นไม้และสัตว์ประจำชาติเป็นครั้งแรก โดยกรมป่าไม้ได้เสนอให้ ต้นราชพฤกษ์ หรือ ต้นคูณ ไม้มงคลที่มีประโยชน์และรู้จักกันอย่างแพร่หลายเป็นต้นไม้ประจำชาติ สำหรับสัตว์ประจำชาติก็คือ ช้างเผือก สัตว์ที่มีคุณค่าเกี่ยวข้องกับประเพณีไทยและประวัติศาสตร์ไทยมายาวนาน การเสนอครั้งนั้นไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการ ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงความเป็นไทยจึงมีหลากหลาย ตั้งแต่สถานที่สำคัญๆ สัตว์ ดอกไม้ ที่คนไทยคุ้นเคยและพบเห็นบ่อย เช่น พระปรางค์วัดอรุณฯ เรือสุพรรณหงส์ ดอกบัว ดอกมะลิ ดอกพุทธรักษา แมวไทย เช่นเดียวกับ ต้นราชพฤกษ์ และ ช้างเผือก ยังคงถูกยกย่องให้เป็นสัญลักษณ์ประจำชาติตลอดมา
ในปี พ.ศ.2530 ได้มีการส่งเสริมให้ปลูกต้นราชพฤกษ์อีกครั้ง เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ โดยมีการส่งเสริมให้ปลูกต้นราชพฤกษ์ทั่วประเทศจำนวน 99,999 ต้น ทุกวันนี้จึงมีต้นราชพฤกษ์อยู่มากมายทั่วประเทศไทย
ข้อสรุปเรื่องสัญลักษณ์ประจำชาติดูเหมือนจะยังไม่ชัดเจน กระทั่งช่วงปี พ.ศ.2544 คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ได้นำเรื่องดังกล่าวกลับมาเสนออีกครั้ง และมีข้อสรุปเสนอให้มีการกำหนดสัญลักษณ์ประจำชาติ 3 สิ่งคือ ดอกไม้ สัตว์และสถาปัตยกรรม และการพิจารณาที่ผ่านมาเสนอให้กำหนดดอกไม้ประจำชาติคือ ดอกราชพฤกษ์ สัตว์ประจำชาติ คือ ช้างไทย และสถาปัตยกรรมประจำชาติคือ ศาลาไทย
เหตุที่เลือก ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำชาติเพราะมีความเหมาะสมในหลายๆ ด้าน คือ เป็นดอกไม้จากต้นไม้ที่ถูกเสนอให้เป็นต้นไม้ประจำชาติเมื่อครั้งที่กรมป่าไม้เสนอไว้ เป็นต้นไม้ที่มีอายุยืน ทนทาน ปลูกขึ้นได้ดีทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นต้นไม้พื้นเมืองที่รู้จักแพร่หลาย มีชื่อเรียกหลายชื่อต่างกันในแต่ละภาค เช่น ลมแล้ง คูน อ้อดิบ ราชพฤกษ์เป็นไม้มงคลใช้ประโยชน์ในพิธีสำคัญๆ เช่น ลงหลักเมือง ลงเสาเอก ทำคฑาจอมพลและยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร ในช่วงฤดูร้อ ราชพฤกษ์จะออกดอกสะพรั่งทั้งต้น ช่อดอกมีรูปทรงสวยงาม สีเหลืองอร่ามเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาประจำชาติ รวมทั้งเป็นสีเดียวกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ นอกจากนี้ความงามของช่อดอก และความหมายที่ดียังถูกจำลองแบบประดับไว้บนอินทรธนูของข้าราชการพลเรือนอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
- พืชพรรณไม้มงคล ส.พลายน้อย บริษัท รวมสาส์น (1977) จำกัด
- เดลินิวส์วาไรตี้ พงษ์พรรณ บุญเลิศ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันอังคารที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2544
- ไม้ต้นประดับดอก ชุดคู่มือคนรักต้นไม้ วชิรพงศ์ หวลบุตตา สำนักพิมพ์บ้านและสวน
เกร็ดพรรณไม้
- สูตรคำนวณจำนวนกลีบดอกไม้…มีด้วยหรือ ?
- ลีลาวดี…ไม่ใช่ชื่อพระราชทาน
- ต้นไม้…ดอกไม้…ประจำชาติไทย
- หัว…ไหล…เหง้า…แง่ง..ง…งง?
- พรรณไม้งามนาม…” ควีนสิริกิติ์ “
- ไม้ยืนต้น…ไม้พุ่ม…ไม้ล้มลุก…ไม้เถา…ไม้เลื้อย…
- “ปุ๋ย” ทำไมถึงต้อง…ละลายช้า
- พิษของสารเคมีฆ่าแมลงและการป้องกัน
- ดอกจำปี กับ ดอกจำปา ต่างกันตรงไหน
- ชื่อและอักษรย่อในใบกำกับสารเคมีเกษตรหมายถึงอะไร
- ทำอย่างไรให้ดอกไม้ปักเจกันอยู่ได้นาน
- ตารางธาตุอาหารของปุ๋ยคอก
- พืชจะแสดงอาการอย่างไรเมื่อขาดธาตุอาหาร
- ข้อดี ข้อด้อย ของการใช้ ปุ๋ยเคมี และ ปุ๋ยอินทรีย์