กล้วยไม้สกุลหวาย

กล้วยไม้สกุลหวาย-DENDROBIUMกล้วยไม้สกุลหวาย-DENDROBIUM

กล้วยไม้สกุลหวาย Dendrobium

กล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) เป็นกล้วยไม้สกุลใหญ่ที่สุด มีการแพร่กระจายพันธุ์ออกไปในบริเวณกว้างทั้งในทวีปเอเชียและหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก นักพฤกษศาสตร์ได้จำแนกออกเป็นหมู่ประมาณ 20 หมู่ และรวบรวมกล้วยไม้ชนิดนี้ที่ค้นพบแล้วได้ประมาณ 1,000 ชนิดพันธุ์

กล้วยไม้สกุลหวาย มีลักษณะการเจริญเติบโตแบบซิมโพเดียล คือ มีลำลูกกล้วย เมื่อลำต้นเจริญเติบโตเต็มที่แล้วจะแตกหน่อเป็นลำต้นใหม่และเป็นกอ ใบแข็งหนาสีเขียว ดอกมีลักษณะทั่วไปของกลีบชั้นนอกคู่บนและคู่ล่างขนาดยาวพอๆ กันโดยกลีบชั้นนอกบนจะอยู่อย่างอิสระเดี่ยวๆ ส่วนกลีบชั้นนอกคู่ล่างจะมีส่วนโคน ซึ่งมีลักษณะยื่นออกไปทางด้านหลังของส่วนล่างของดอกประสานเชื่อมติดกับฐานหรือสันหลังของเส้าเกสร และส่วนโคนของกลีบชั้นนอกคู่ล่างและส่วนฐานของเส้าเกสรซึ่งประกอบกันจะปูดออกมา มีลักษณะคล้ายเดือยที่เรียกว่า “เดือยดอก” สำหรับกลีบชั้นในทั้งสองกลีบมีลักษณะต่างๆ กันแล้วแต่ชนิดพันธุ์ของกล้วยไม้นั้นๆ

กล้วยไม้หวายป่าของไทยมีสีสวยงาม ก้านช่อสั้น สำหรับกล้วยไม้สกุลหวายที่เป็นกล้วยไม้อยู่ในป่าของไทยมีหลายชนิดอันได้แก่พวก “เอื้อง” ต่างๆ เช่น

เอื้องผึ้ง

Den. aggregatum

เอื้องผึ้ง

เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยป้อมสั้นและเบียดกันแน่น ลักษณะใบแข็งหนาสีเขียวจัด ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ก้านช่อดอกอ่อนโค้งลงมา ช่อหนึ่งมีมากกว่า 20 ดอก พื้นดอกสีเหลืองอ่อน ปากสีเหลืองเข้ม ขนาดดอกโตประมาณ 3 เซนติเมตร พบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้

เอื้องม่อนไข่, เอื้องม่อนไข่ใบมน

Den. thyrsiflorum

เอื้องม่อนไข่, เอื้องม่อนไข่ใบมน

เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างกลมหรือแบนโคนเล็กและใหญ่ด้านบน สีเขียว ลำลูกกล้วยลำหนึ่งๆ มีใบประมาณ 3–4 ใบ ลักษณะใบแหลมยาวประมาณ 10–18 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อ ช่อดอกห้อยเป็นพวงยาว ดอกแน่น กลีบดอกสีขาวกางผายออก โคนกลีบปากกระดกม้วนขึ้น ปลายแหลม ม้วนขึ้นสีเหลือง ภายในมีขนแต่ริมสันปากไม่มีขน ขนาดดอกโตประมาณ 2-4 เซนติเมตร บานพร้อมกันทั้งช่อและบานนานประมาณ 1 สัปดาห์ ออกดอกเดือนมกราคมถึงเมษายน พบมากตามป่าดิบที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,000 เมตรขึ้นไป ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

เหลืองจันทบูร

Den. friedericksianum

เหลืองจันทบูร

เป็นกล้วยไม้ที่มีถิ่นกำเนิดแถบจังหวัดจันทบุรี เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยลักษณะเป็นโคนเล็กแล้วค่อยโป่งไปทางตอนปลายขนาดลำยาวมาก บางต้นยาวถึง 75 เซนติเมตร เมื่อลำแก่จะเป็นสีเหลืองโดยด้านข้างของลำจะมีใบอยู่ทั้งสองข้าง ออกดอกในเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน ช่อดอกออกตามข้อของลำ ออกดอกเป็นช่อๆ ละ 2–4 ดอก กลีบดอกเป็นมัน รอบแรกดอกจะเป็นสีเหลืองอ่อนแล้วจะค่อยๆ เข้มขึ้นจนเป็นสีจำปา ปากสีเข้มกว่ากลีบ ในคอมีสีแต้มเป็นสีเลือดหมู 2 แต้ม ขนาดดอกโตประมาณ 5 เซนติเมตร

พวงหยก, หวายปม

Den. findlayanum

พวงหยก, หวายปม

เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยสีเขียวเหลือง ยาวประมาณ 30–70 เซนติเมตร และโป่งเป็นข้อๆ ลักษณะใบยาวรี เมื่อลำแก่จะทิ้งใบ ออกดอกตามข้อๆ ละประมาณ 2-4 ดอก กลีบดอกสีม่วงอ่อนโคนกลีบสีขาว ปากสีเหลืองเข้ม ขอบปลายปากเป็นรูปหัวใจ ขนาดดอกโตประมาณ 4–6 เซนติเมตร ช่วงออกดอกมักผลัดใบเกือบทั้งหมด ออกดอกช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม พบที่เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำปาง

เอื้องช้างน้าว, เอื้องคำตาควาย

Den. pulchellum

เอื้องช้างน้าว, เอื้องคำตาควาย

เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยลักษณะกลม ต้นอ่อนเป็นเส้นสีม่วงลักษณะใบรูปไข่ยาวประมาณ 10–15 เซนติเมตร เมื่อลำแก่แล้วจะทิ้งใบ แตกช่อห้อยที่ปลายลำ ออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ช่อหนึ่งมี 5–10 ดอก กลีบดอกเป็นสีเหลืองอ่อนมีเส้นเหลืองชมพู ปากรูปไข่กลมแบะแอ่นลงมีแต้มสีเลือดหมู 2 แต้ม กลีบนอกเป็นรูปใบ ภายในกลีบเป็นรูปไข่ ขนาดดอกโตประมาณ 5–7 เซนติเมตร พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้

เอื้องมัจฉาณุ

Den. farmeri

เอื้องมัจฉาณุ

เป็นกล้วยไม้ที่ลำลูกกล้วยลักษณะเป็นพู ตอนบนใหญ่ตอนล่างเล็กรูปสี่เหลี่ยมยาวประมาณ 20–30 เซนติเมตร ลำลูกกล้วยแต่ละลำมีใบ 3–4 ใบ ลักษณะใบเป็นรูปไข่ยาวประมาณ 10–15 เซนติเมตร ออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ดอกเป็นช่อห้อยยาวประมาณ 15–25 เซนติเมตร ช่อหนึ่งมีหลายดอก ก้านช่อดอกยาว ดอกหลวม ทั้งกลีบดอกนอกและในมีสีม่วง ชมพู หรือขาว ปากสีเหลืองมีขนเป็นกำมะหยี่ ขนาดดอกโตประมาณ 2-4 เซนติเมตร พบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก และภาคใต้

เอื้องเงินหลวง

Den. formosum

เอื้องเงินหลวง

เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยตั้งตรง กลมค่อนข้างอ้วน ความยาวประมาณ 30–50 เซนติเมตร ที่กาบใบมีขนสีดำลักษณะใบรูปไข่ยาวรี ยาวประมาณ 10–15 เซนติเมตร ปลายใบมี 2 แฉกไม่เท่ากัน ออกดอกที่ยอด ช่อดอกสั้น ช่อหนึ่งๆ มี 3–5 ดอก กลีบดอกมีสีขาว ปากสีเหลืองส้มโคนปากสอบปลายปากเว้า มีสันนูนสองสันจากโคนออกมาถึงกลางปาก ขนาดดอกโตประมาณ 10 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมอ่อน ออกดอกเดือนตุลาคมถึงธันวาคม พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันตก และภาคใต้

เอื้องเงิน

Den. draconis

เอื้องเงิน

มีลักษณะลำต้นคล้ายกับเอื้องเงินหลวง แต่จะมีลำและใบสั้นกว่าก้านช่อสั้น มีดอกประมาณ 2-5 ดอก ดอกขนาด 8-9 เซนติเมตร กลีบขาว ปากสีส้มอมแดง ออกดอกเดือนมีนาคมถึงเมษายน พบมากที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก

เอื้องเงินแดง

Den. cariniferum

เอื้องเงินแดง

ลักษณะลำต้นเจริญทางด้านข้าง ลำลูกกล้วยทรงกระบอก ผิวมักเป็นร่อง ใบรูปขอบขนาน ปลายเบี้ยว ออกดอกเป็นช่อ 2-5 ดอก ดอกกว้าง 3-4 ซม. กลีบดอกสีขาวครีม ปลายสีเหลือง โคนของกลีบปากสีส้มเข้มถึงส้มแดง กระดกห่อขึ้น ปลายแผ่เป็นแผ่นค่อนข้างยาว ขอบหยักเป็นคลื่น สีเหลืองอมส้มถึงขาว กลางกลีบเป็นสันนูน มีเส้นสีส้มเป็นริ้วตามความยาวกลีบเป็นระยะ ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม พบมากทางภาคเหนือ

เอื้องมะลิ, แส้พระอินทร์

Den. crumenatum

เอื้องมะลิ, แส้พระอินทร์

ออกดอกเป็นช่อ 1-2 ดอก ตามข้อต้นในส่วนที่ไม่มีใบของปลายลูกกล้วย กลีบดอกสีขาว กางผายออก โคนกลีบปากเชื่อมติดกัน หูกลีบปากกระดกขึ้นทั้งสองข้าง ปลายผายออก มีสีเหลืองที่กลางกลีบปาก ดอกขนาด 2-3 เซนติเมตร ดอกบานเพียงวันเดียว มีกลิ่นหอมฉุน ช่วงออกดอกไม่แน่นอน ส่วนใหญ่จะออกดอกช่วงที่มีอากาศร้อนแล้วมีฝนตก หรือในช่วงฤดูฝน พบตามป่าดิบทางภาคใต้ ภาคกลาง และภาคตะวันตก

เอื้องสายประสาท, เอื้องสายน้ำผึ้ง

Den. primulinum

เอื้องสายประสาท, เอื้องสายน้ำผึ้ง

เป็นกล้วยไม้ที่ลำลูกกล้วยกลมเกือบเท่ากันทั้งลำ รูปทรงตรงหรือโค้งเล็กน้อย ยาวประมาณ 30–45 เซนติเมตร ใบเล็กลงไปทางยอด ใบตัดเฉียงๆ ตามยาวประมาณ 10 เซนติเมตร เมื่อใบแก่จะทิ้งใบ ออกดอกตามข้อที่ทิ้งใบแล้ว ออกดอกในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ดอกเป็นช่อๆ ละ 1–2 ดอก ตามข้อของลำลูกกล้วย ลักษณะกลีบดอกนอกและในยาวรีเท่ากัน สีม่วงอ่อน ปากรูปกรวยเป็นวงกลมสีเหลืองมะนาว ขนาดดอกโตประมาณ 5–7 เซนติเมตร พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันตก และภาคใต้

เอื้องเก๊ากิ่วแม่สะเรียง, เอื้องไม้ตึง

Den. tortile

เอื้องเก๊ากิ่วแม่สะเรียง, เอื้องไม้ตึง

ลำต้นเจริญทางด้านข้าง โคนลำลูกกล้วยคอด ใบรูปขอบขนาน ออกดอกเป็นช่อตามข้อ 3-6 ดอกต่อข้อ ดอกกว้าง 5-7 เซนติเมตร กลีบดอกสีม่วง มักบิดเป็นคลื่น มีเส้นสีม่วงตามความยาวกลีบ โคนกลีบปากม้วนขึ้นเป็นกลีบยาว โคนสีม่วง ปลายผายออก สีเหลืองอ่อน ออกดอกเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้

เอื้องแปรงสีฟัน

Den. secundum

เอื้องแปรงสีฟัน

ใบรูปขอบขนานแกมรูปแถบ ออกดอกที่ปลายกิ่งเป็นช่อยาว ดอกจำนวนมาก กลีบงุ้มเข้าหากัน สีม่วงอมชมพู กลีบปากเป็นทรงกระบอก ปลายกลีบปากสีเหลือง ดอกกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร ออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ช่วงออกดอกมักผลัดใบ พบมากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้

เอื้องสายหลวง, เอื้องสาย

Den. anosmum

เอื้องสายหลวง, เอื้องสาย

ลำลูกกล้วยห้อยลงเป็นสายยาว ใบรูปรีขอบขนาน ปลายใบแหลม ดอกเดี่ยวออกตามข้อ ดอกกว้าง 4-5 เซนติเมตร สีม่วงอ่อน กลีบปากรูปทรงกลมปลายแหลม โคนกลีบปากม้วนเข้าหากันและมีแต้มสีม่วงเข้มทั้งสองด้าน ผิวกลีบด้านในมีขนปกคลุม ผิวด้านนอกมีขนเฉพาะขอบกลีบ ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกเดือนเมษายนถึงมิถุนายน ช่วงออกดอกมักผลัดใบ พบทางภาคใต้

เอื้องครั่ง

Den. parishii

เอื้องครั่ง

ลำลูกกล้วยรูปรี ค่อนข้างอวบ ใบรูปขอบขนานแกมรูปไข่ ออกดอกที่ข้อ 1-3 ดอก ดอกกว้าง 3-5 เซนติเมตร กลีบดอกสีม่วง โคนกลีบดอกกระดกห่อขึ้น ปลายกลีบแหลมมีขนสั้นๆ ปกคลุม กลางกลีบสีม่วง ดอกมีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม พบทางภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันตก

เอื้องคำ

Den. chrysotoxum

เอื้องคำ

เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยรูปทรงหลายเหลี่ยม โดยจะมีตอนกลางลำโป่งแล้วเรียวลงมาโคนและยอด ความยาวประมาณ 20–50 เซนติเมตร เมื่อลำแก่จะมีสีค่อนข้างเหลืองตอนบนของลำจะมีใบอยู่ 4–5 ใบ ยาวประมาณ 20–30 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อ 12-25 ดอก แต่ละช่อดอกจะห่างไม่อัดแน่น ดอกมีสีส้มสด กลีบปากสีส้มมีขนาดใหญ่ โคนกระดกห่อขึ้น ปลายบานเป็นทรงกลม มีขนนุ่มปกคลุม ขอบกลีบหยักเป็นคลื่น ขนาดดอกประมาณ 3-5 เซนติเมตร มีกลิ่นหอม ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนและภาคตะวันตก

แววมยุรา

Den. fimbriatum

แววมยุรา

เป็นกล้วยไม้ที่มีลำลูกกล้วยยาวกว่า 60 เซนติเมตร มีผิวเป็นร่องตื้นๆ ใบรูปหอกยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ช่อดอกห้อยยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ช่อหนึ่งมี 7–15 ดอก กลีบนอกยาวรี กลีบในเป็นรูปไข่สีเหลือง กลีบปากเกือบกลมมีสีเข้มกว่ากลีบดอก ผิวมีขนนุ่มละเอียดปกคลุม ขอบกลีบหยัก กลางกลีบมีแต้มสีม่วงเข้มเกือบดำ ดอกกว้าง 3-4 เซนติเมตร ออกดอกเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม พบทางภาคเหนือ

ภาพจากหนังสือ ทำเนียบกล้วยไม้ไทย THAI ORCHID SPECIES
สมศักดิ์ รักไพบูลย์สมบัติ, สุริวงศ์ บุคเซ็นเตอร์ 1992

กล้วยไม้สกุลต่างๆ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง