กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี Paphiopedilum
กล้วยไม้รองเท้านารี (Lady’s Slipper) เป็นกล้วยไม้สกุล Paphiopedilum มีชื่อเรียกอื่นๆ อีกหลายชื่อ เช่น รองเท้านาง รองเท้าแตะนารี หรือบุหงากะสุตในภาษามาเลเซีย อันหมายถึงรองเท้าของสตรี เนื่องจากกลีบดอกหรือที่เรียกว่า “กระเป๋า” มีรูปร่างคล้ายกับรองเท้าของสตรีและรองเท้าไม้ของชาวเนเธอแลนด์ กระเป๋าของรองเท้านารีมีรูปร่างลักษณะและสีสันแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์
กล้วยไม้รองเท้านารี มีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตอบอุ่น และเขตร้อนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่อินเดีย ฟิลิปปินส์ พม่า มาเลเซีย และในประเทศไทยซึ่งพบกล้วยไม้รองเท้านารีขึ้นอยู่ในป่าทั่วๆ ไป บางชนิดเกาะอาศัยอยู่ตามต้นไม้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นพวกที่ขึ้นอยู่ตามพื้นดินหรือซอกหินที่มีต้นไม้ใบหญ้าเน่าตายทับถมกัน เจริญงอกงามในที่โปร่ง ไม่ชอบที่รกทึบ แสงแดดส่องถึง
รองเท้านารี เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอเช่นเดียวกับ หวาย คัทลียา และซิมบิเดียม ต้นที่แท้จริงเรียกว่า ไรโซม (เหง้า) ต้นหนึ่งหรือกอหนึ่งจะประกอบด้วยต้นย่อยหลายต้น รากออกเป็นกระจุกที่โคนต้นและมักจะทอดไปทางด้านราบมากกว่าหยั่งลึกลงไป หน่อใหม่จะแตกจากตาที่โคนต้นเก่า มีลำต้นสั้นมาก แต่ไม่มีลำลูกกล้วย ใบมีขนาดรูปร่างต่างกันไป บางชนิดมีใบยาว บางชนิดใบตั้งชูขึ้น บางชนิดใบทอดขนานกับพื้น บางชนิดใบมีลาย บางชนิดใบไม่มีลายแต่เป็นสีเดียวเรียบๆ การออกดอกจะออกที่ยอด มีทั้งชนิดออกดอกเป็นดอกเดี่ยวและออกดอกเป็นช่อ กลีบดอกชั้นนอกกลีบบนมีขนาดใหญ่สะดุดตา ส่วนกลีบชั้นนอกคู่ล่างจะเชื่อมติดกันและมีขนาดเล็กลงจนส่วนปากบังมิดหรือเกือบมิด กลีบคู่ในซึ่งมีลักษณะเหมือนกันกางออกไปทั้ง 2 ข้างซ้ายขวาของดอก ส่วนกลีบในกลีบที่ 3 จะเปลี่ยนเป็น “กระเปาะ” คล้ายรูปรองเท้า กระเปาะนี้มีหน้าที่รับน้ำฝนตกลงไปเพื่อชะล้างเกสรตัวผู้ไปตัดกับแผ่นเกสรตัวเมีย กล้วยไม้สกุลนี้จะมีทั้งเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน แต่จะมีเส้าเกสรแตกต่างจากกล้วยไม้ทั่วๆ ไป คือ ที่ปลายสุดของเส้าเกสร แทนที่จะเป็นอับเรณูกลับเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งทางพฤกษาศาสตร์ถือเป็นเกสรที่เปลี่ยนรูปร่างไปใช้การไม่ได้ เรียกส่วนนี้ว่า “สตามิโนด” สำหรับเกสรตัวผู้ที่ใช้การได้มีอยู่ 2 ชุด โดยจะอยู่ถัดต่ำลงมาทั้ง 2 ข้างของเส้าเกสรข้างละ 1 ชุด ในแต่ละชุดจะมีอับเรณูลักษณะเป็นก้อนแข็งอยู่ 2 อัน ถัดต่ำลงมาจากส่วนนี้อีกจะเป็นยอดเกสรตัวเมียซึ่งเป็นแอ่งลึกลงไปยึดติดกับเส้าเกสร (ปกติส่วนนี้จะถูกหูกระเป๋าโอบหุ้มเอาไว้จนมิด) ภายในมีน้ำเมือกเหนียวสำหรับยืดเกสรตัวผู้ที่ตกลงไปในแอ่ง รังไข่อยู่ตรงส่วนของก้านดอก ภายในรังไข่ยังไม่มีการพัฒนาเป็นไข่อ่อน จนกระทั่งผสมเกสรแล้วจึงเกิดไข่อ่อนในรังไข่ รังไข่จะกลายเป็นฝักเมื่อฝักแก่จะแตกเมล็ดสามารถเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ได้
โดยธรรมชาติของกล้วยไม้สกุลรองเท้านารีทุกชนิด เมื่อออกดอกแล้วก็จะตายไป แต่ก่อนตายจะแตกหน่อทดแทน ซึ่งหน่อนี้ก็จะเจริญงอกงามเป็นต้นใหม่ต่อไป ชนิดพันธุ์ของกล้วยไม้รองเท้านารีที่สำรวจพบ ได้แก่
|
รองเท้านารีอินทนนท์
Paphiopedilum villosum
เป็นพันธุ์กล้วยไม้ที่พบเมื่อ พ.ศ.2396 มีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณแถบที่มีอากาศชื้นและอุณหภูมิต่ำเช่น ดอยอินทนนท์ และภูเขาสูง ลักษณะของกล้วยไม้พันธุ์นี้คือ มีใบสีเขียวสม่ำเสมอทั้งใบ ไม่มีลาย โคนใบส่วนใกล้กับเหง้ามีจุดสีม่วงประปราย และค่อยๆ จางหายตรงส่วนปลายใบ ใบยาวบางและอ่อน เป็นรองเท้านารีที่มีเกสรตัวผู้ต่างจากชนิดอื่นคือ เกสรตัวผู้จับตัวรวมเป็นก้อนแข็งค่อนข้างใส มีสีเหลืองไม่เป็นยางเหนียว |
รองเท้านารีเหลืองปราจีน
Paphiopedilum concolor
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2402 มีถิ่นกำเนิดอยู่แถบอำเภออรัญประเทศ จังหวัดปราจีนบุรี ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ มีใบลาย ท้องใบสีม่วง ก้านดอกยาวมีขน อาจมี 2–3 ดอกบนก้านเดียวกันได้ กลีบดอกด้านบนผายออกคล้ายพัด ปลายมนสูง กลีบในกางพอประมาณ เมื่อดอกบานจะคุ้มมาข้างหน้าแลดูคล้ายดอกบานไม่เต็มที่ พื้นดอกสีเหลืองอ่อน มีประจุดเล็กๆ สีม่วงประปราย กระเปาะสีเดียวกับกลีบดอก ปลายกระเปาะค่อนข้างเรียวแหลมและงอนปลายเส้าเกสรเป็นแผ่นใหญ่ |
|
|
รองเท้านารีเมืองกาญจน์
Paphiopedilum parishii
ค้นพบเมื่อ พ.ศ.2402 ถิ่นกำเนิดอยู่แถบจังหวัดกาญจนบุรีและกำแพงเพชร เป็นกล้วยไม้อากาศเกาะอยู่ตามต้นไม้มีลักษณะเด่น คือ มีกลีบในคู่บิดเป็นเกลียวเป็นสายยาวกว่ากลีบนอกประมาณสามเท่าตัว |
รองเท้านารีเหลืองตรัง
Paphiopedilum godefroyae
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2419 ขึ้นตามโขดหิน ถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเกาะรัง จังหวัดชุมพร ลักษณะเด่นคือ ใบลาย ท้องใบสีม่วง ปลายมนคล้ายรูปลิ้น ก้านดอกสีม่วงมีขน ดอกโตสีครีมเหลือง กลีบนอกบนรูปกลม ปลายยอดแหลมเล็กน้อย กลีบในสองข้างกลมรี ปลายกลีบเว้า ประจุดลายสีน้ำตาลจางตรงโคนกลีบแล้วค่อยจางออกตอนปลาย ปากกระเปาะขาวไม่มีลาย |
|
|
รองเท้านารีอ่างทอง
Paphiopedilum angthong
ถิ่นกำเนิดอยู่ตามหมู่เกาะบริเวณอ่าวไทย เช่น หมู่เกาะอ่างทอง เกาะสมุย เป็นต้น ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้คือ ปลายใบมน ด้านบนสีเขียวคล้ำประลาย ด้านใต้ท้องใบสีม่วงแก่ ก้านดอกยาวมีขน ดอกค่อนข้างเล็กขนาดไม่สม่ำเสมอ การประจุดกระจายจากโคนกลีบ พื้นกลีบดอกสีขาว กลีบค่อนข้างหนา |
รองเท้านารีสุขะกุล
Paphiopedilum sukhakulii
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2507 ถิ่นกำเนิดอยู่แถบจังหวัดเลยบนยอดภูหลวง กล้วยไม้พันธุ์นี้มีลักษณะเด่นคือ มีลักษณะคล้ายคลึงกับรองเท้านารีคางกบ แต่มีรายละเอียดส่วนต่างๆ ที่แตกต่างกัน ได้แก่ พื้นกลีบสีเขียวมีจุดสีม่วงประปรายทั่วกลีบ ปลายกลีบดอกแหลม พื้นกลีบมีสีทางสีเขียวถี่ๆ ลายทางจากโคนดอกวิ่งไปรวมที่ปลายกลีบ กลีบในกางเหยียด ขอบกลีบมีขนเช่นเดียวกับบริเวณโคนดอก |
|
|
รองเท้านารีเหลืองกระบี่
Paphiopedilum exul
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2435 ถิ่นกำเนิดอยู่แถบเกาะพงันจังหวัดสุราษฎร์ธานี เกาะพังงา และจังหวัดชุมพร ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้คือ มีใบสีเขียวไม่มีลาย ใบแคบและหนา ผิวเป็นมัน เส้นกลางใบเป็นรอยลึกรูปตัววี ก้านดอกแข็ง ดอกใหญ่ กลีบดอกนอกบนเป็นรูปใบโพธิ์กว้าง สอบตรงปลาย กลีบดอกสีขางไล่จากโคนกลีบ แนวกลางของกลีบเป็นสีเหลืองอมเขียวประด้วยจุดสีม่วง กลีบในสีเหลืองแคบและยาวกว่ากลีบนอก กระเปาะสีเหลืองเป็นมัน |
รองเท้านารีเหลืองพังงา
Paphiopedilum leucochilum
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2435 ถิ่นกำเนิดอยู่บนภูเขาหินปูนแถบฝั่งทะเล ในจังหวัดภาคใต้ ลักษณะเด่น คือ มีลักษณะคล้ายกับรองเท้านารี “เหลืองตรัง” แต่รองเท้านารีเหลืองพังงาจะมีสีครีมออกเหลือง และที่กระเปาะมีจุดประเล็กๆ สีน้ำตาล |
|
|
รองเท้านารีคางกบ
Paphiopedilum callosum
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2428 ถิ่นกำเนิดอยู่ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ เช่น ดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และบริเวณอ่าวไทยตามเกาะต่างๆ ลักษณะเด่นคือ คล้ายรองเท้านารีฝาหอย แต่แตกต่างตรงที่ปลายกลีบนอกบนของรองเท้านารีคางกบเรียวยาวแหลมกว่า ริมกลีบในเป็นคลื่นหรือพับม้วน กระเปาะมีเม็ดสีดำติดอยู่ |
รองเท้านารีฝาหอย
Paphiopedilum bellatulum
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2431 ถิ่นกำเนิดอยู่ตามหุบเขาในเขตพม่าต่อชายแดนไทยตอนเหนือแถบจังหวัดลำพูน และเขตอำเภอเชียงดาว ภาคใต้ เช่น หมู่เกาะอ่างทอง และเกาะช้างในจังหวัดพังงา เป็นต้น ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้ คือ ใบใหญ่ปลายมน ใบลายสีเขียวแก่และเขียวอ่อนใต้ท้องใบสีม่วงแดง ก้านดอกสั้นมีขน กลีบดอกนอกกว้างมนกลมปลายกลีบคุ้มลงด้านหน้า กลีบในทั้งสองกว้างมนรูปไข่ คุ้มออกด้านหน้า กลีบนอกและกลีบในเกยกันทำให้แลดูลักษณะดอกกลมแน่น กลีบดอกสีขาวนวล ประจุดสีม่วงจากโคนกลีบ กระเปาะมนกลมคล้ายฟองไข่นก Plover (ซึ่งเป็นที่มาของรองเท้านารีฝาหอยที่เรียกว่า “Plover Orchid”) |
|
|
รองเท้านารีขาวสตูล
Paphiopedilum niveum
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2411 ถิ่นกำเนิดอยู่ตามเกาะแถบภาคใต้ ลักษณะเด่นคือ ใบมีลายสีเขียวคล้ำ ปลายมนพอสมควร ใต้ท้องใบสีม่วงแก่ ก้านดอกแข็งยาวเรียวมีทั้งสีม่วงและเขียวมีขน ดอกค่อนข้างเล็กปลายกลีบบานคุ้มมาข้างหน้า ดอกสีขาวเป็นมัน กลีบในประจุดสีม่วง กระเปาะรูปกลมเหมือนไข่สีเดียวกับกลีบคือขาว |
รองเท้านารีเหลืองเลย
Paphiopedilum esquirolei
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2455 ถิ่นกำเนิดอยู่แถบภูเขาในภาคอีสาน เช่น เลย เพชรบูรณ์ เป็นต้น ลักษณะเด่นของกล้วยไม้คือ มีใบลาย ท้องใบสีม่วง ใบยาว กลีบดอกด้านบนสีแดงเข้มออกน้ำตาล ขอบกลีบสีเหลืองอมเขียว ปลายกลีบบีบเข้า กลีบในเป็นสีขมพูแดง กระเปาะสีคล้ายกลีบดอก |
|
|
รองเท้านารีเชียงดาว
Paphiopedilum dianthum
ค้นพบเมื่อปี พ.ศ.2483 ถิ่นกำเนิดอยู่บนดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้คือ มีลักษณะคล้ายคลึงกับรองเท้านารีเมืองกาญจน์ แต่กระเปาะของรองเท้านารีเชียงดาวกว้างกว่า กลีบนอกบนสีเขียว มีเส้นเขียว |
รองเท้านารีม่วงสงขลา
Paphiopedilum barbatum
ถิ่นกำเนิดอยู่ที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา ลักษณะเด่นของกล้วยไม้พันธุ์นี้คือ มีลักษณะคล้ายคลึงกับรองเท้านารีฝาหอย แต่ดอกมีสีม่วงเข้มกว่า |
|