กล้วยไม้สกุลเข็ม

กล้วยไม้สกุลเข็ม-ASCOCENTRUM

กล้วยไม้สกุลเข็ม Ascocentrum

กล้วยไม้สกุลเข็มได้สมญาว่าเป็น “ราชินีของกล้วยไม้แวนด้าแบบมินิหรือแบบกระเป๋า” เพราะเป็นกล้วยไม้ที่มีลักษณะเล็กทั้งขนาดต้น ช่อดอก ขนาดดอก และมีดอกที่มีสีสดใสสะดุดตามากกว่ากล้วยไม้อื่นๆ ในธรรมชาติพบกล้วยไม้สกุลนี้กระจายพันธุ์อยู่ในทวีปเอเชีย ตั้งแต่อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไทย ลงไปถึงอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทไม่แตกกอ มีการเจริญเติบโตขึ้นไปทางส่วนยอด เช่นเดียวกับกล้วยไม้สกุลช้าง สกุลแวนด้า สกุลกุหลาบ มีลำต้นสั้น ใบเรียงแบบซ้อนทับกัน รากเป็นระบบรากอากาศ ออกดอกตามข้อของลำต้นระหว่างใบ ช่อดอกตั้งตรงเป็นรูปทรงกระบอก จัดเป็นกล้วยไม้ประเภทแวนด้าที่มีดอกขนาดเล็ก ในประเทศไทยมีกล้วยไม้สกุลเข็มแท้อยู่ 4 ชนิดคือ เข็มแสด เข็มแดง เข็มม่วง และเข็มหนู แต่ที่มีบทบาทสำคัญในการผสมปรับปรุงพันธุ์ คือ เข็มแดง เข็มแสด และเข็มม่วง

เข็มแดง

Ascocentrum curvifolium

เข็มแดง

พบกระจายพันธุ์ในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย มาทางประเทศพม่า จนถึงประเทศไทย แถบจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และ กาญจนบุรี ที่ระดับความสูง 100-300 เมตรจากระดับน้ำทะเล ใบมีสีเขียวอ่อน ค่อนข้างอวบน้ำ ใบแคบ โค้ง เรียว ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ในฤดูแล้งขอบใบจะปรากฏจุดสีม่วงประปรายและจะหนาแน่ขึ้นเมื่อแล้งเพิ่มมากขึ้น ดอกสีแดงอมส้ม ดอกโตประมาณ 1.5 เซนติเมตร ช่อดอกรูปทรงกระบอก ตั้งตรง แข็ง ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ดอกแน่นช่อ บานทนนับเป็นสัปดาห์ ออกดอกในช่วงเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม

เข็มแสด

Ascocentrum miniatum

เข็มแสด

พบกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในทุกภาคของประเทศไทย ทั้งในลักษณะภูมิประเทศที่ราบและที่เป็นภูเขา จึงสามารถปลูกเลี้ยงได้ดีในทุกภาคของประเทศไทย เข็มแสดมีลำต้นไม่สูงนัก ใบเรียงซ้อนกันแน่น ใบอวบหนา ปลายใบเป็นฟันแหลม และโค้งเล็กน้อย ใบสีเขียวแก่ และอาจมีสีม่วงบ้างเล็กน้อย เมื่อมีสภาพอากาศแห้งแล้ง ใบยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตร ดอกมีกลีบหนา ผิวกลีบเป็นมันสีส้มหรือสีเหลืองส้ม ขนาดดอกโตประมาณ 1–1.5 เซนติเมตร ช่อดอกเป็นรูปทรงกระบอก ดอกแน่นช่อ ช่อหนึ่งอาจมีมากกว่า 50 ดอก ออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม

เข็มม่วง

Ascocentrum ampullaceum

เข็มม่วง

พบตามธรรมชาติในประเทศไทยที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก และต่ำลงไปถึงจังหวัดกาญจนบุรี ที่ระดับความสูงกว่าเข็มแดง เข็มม่วงมีลำต้นตั้งแข็ง ใบแบนกว้าง ปลายตัดและมีฟันแหลมๆ ไม่เท่ากันทลายฟัน ใบยาวประมาณ 15 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 เซนติเมตร ใบสีเขียวคล้ำ ในฤดูแล้งใบจะมีจุดสีม่วงเล็กน้อย ดอกสีม่วงแดง ก้านดอกสั้นเป็นสีเดียวกับดอก เดือยดอกยาวดอกโตประมาณ 2 เซนติเมตร ช่อดอกตั้งตรงรูปทรงกระบอก ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ดอกแน่น ช่อหนึ่งมีประมาณ 30 ดอก มักออกดอกบริเวณส่วนล่างของลำต้น ออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม ดอกบานทนประมาณ 2 สัปดาห์

เข็มหนู

Ascocentrum semiteretifolium

เข็มหนู

เป็นกล้วยไม้ที่มีใบเป็นแบบใบกลม มีร่องลึกทางด้านบนของใบ ใบกว้างประมาณ 5 มิลลิเมตร มีดอกสีม่วงอ่อน มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศไทย พบที่ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ระดับความสูง 1,800-1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นกล้วยไม้ที่ค่อนข้างหายาก ลักษณะของต้นและดอกไม่เป็นที่นิยมของนักปลูกเลี้ยง

กล้วยไม้สกุลเข็มเป็นกล้วยไม้ที่ดอกมีสีสันสดใส มีช่อดอกแข็งชูตั้งขึ้นเป็นรูปทรงกระบอก ดอกแน่นเป็นระเบียบ สามารถให้ดอกพร้อมกันได้หลายช่อ ปลูกเลี้ยงง่าย จึงนิยมนำกล้วยไม้สกุลเข็ม (Ascocentrum) ผสมข้ามสกุลกับกล้วยไม้สกุลแวนด้า (Vanda) เป็นกล้วยไม้ลูกผสมแอสโคเซ็นด้า (Ascocenda) ซึ่งจะทำให้ได้กล้วยไม้ที่มีสวยงามขึ้น ออกดอกดกขึ้น ดอกบานทนและปลูกเลี้ยงง่ายขึ้น

ลูกผสมแอสโคเซ็นด้าระดับแรก

หมายถึงแอสโคเซ็นด้าที่เกิดจากการผสมระหว่างแวนด้ากับเข็มโดยตรง เป็นแอสโคเซ็นด้าที่มีสายพันธุ์แวนด้าและเข็มอย่างละครึ่ง แอสโคเซ็นด้าระดับแรกมีคุณสมบัติเด่นอยู่หลายประการเช่น สีของดอกที่สดใสสวยสะดุดตา สำหรับรายละเอียดต่างๆ เช่นจุดประ หรือแต้มสีต่าง ที่ปรากฏบนดอกแวนด้าจะเลือนลางหรือเหลือเพียงจุดละเอียดประปรายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ขนาดของดอกจัดอยู่ในประเภทดอกขนาดกลาง (intermediate type) ช่อดอกรูปทรงกระบอกตั้ง มีจำนวนดอกภายในช่อมากกว่าแวนด้า แอสโคเซ็นด้าระดับนี้จะมีนิสัยเลี้ยงง่าย โตเร็ว และให้ดอกตลอดทั้งปีในสภาพแวดล้อมของประเทศไทย เช่น

  • แอสโคเซ็นด้า คาธี เออนี่ (Ascoda Kathy Arne) เป็นลูกผสมระหว่าง แวนด้า เจเนท ฟูกูโดะ (V. Janet Fukudo) กับ เข็มแดง (Asctum currvifolium)
  • แอสโคเซ็นด้า เมม จิม วิลกินส์ (Ascoda Mem Jim Wilkins) เป็นลูกผสมระหว่าง แวนด้า เจนนี่ ฮาชโมโตะ (V. Jennie Hashimoto) กับ เข็มแดง (Asctum curvifolium)
  • แอสโคเซ็นด้า ฟลอริด้า ซันเซต (Ascoda Florida Sunset) เป็นลูกผสมระหว่างแวนด้า เจฟฟรีย์ (V.Feffrey) กับ เข็มแดง (Asctum curvifolium)
  • แอสโคเซ็นด้า ครายเซ่ เป็นลูกผสมระหว่าง แวนด้าลาเม็ลเลต้า กับ เข็มแสด
  • แอสโคเซ็นด้า สาคริก เป็นลูกผสมระหว่าง แวนด้าเซนเดอร์เรียน่า กับ เข็มแสด
  • แอสโคเซ็นด้า เบบี้ บลู (Ascda Baby Blue) เป็นลูกผสมระหว่าง แวนด้า เซอรูเลสเซ็นส์ หรือ ฟ้ามุ่ยน้อย (V. coerulescens) กับเข็มม่วง

ลูกผสมแอสโคเซ็นด้าระดับสอง

หมายถึงลูกผสมเอสโคเซ็นด้าที่เกิดจากการใช้แอสโคเซ็นด้าระดับแรกที่ปลูกเลี้ยงจนออกดอกแล้วมาผสมกลับไปหาแวนด้าใบแบนหรือเข็มอีกที ลูกผสมแอสโคเซ็นด้าระดับสองที่เกิดจากการผสมกลับไปหาแวนด้าพบว่า มีขนาดต้นโตขึ้น ขนาดดอกใหญ่ขึ้น บางต้นมีขนาดดอกเท่าแวนด้า ส่วนลูกผสมแอสโคเซ็นด้าระดับสองที่เกิดจากการผสมกลับไปหาเข็มพบว่า ต้นมีขนาดและรูปทรงเล็กลง ทั้งขนาดดอกก็เล็กลงกว่าแอสโคเซ็นด้าระดับแรก แต่สีดอกจะดูสดใสสะดุดตาขึ้น สำหรับลูกผสมแอสโคเซ็นด้าระดับสองมีดังนี้

  • แอสโคเซ็นด้า มีด้าแซนด์ (Ascda. Medasand) เป็นลูกผสมระหว่างแอสโคเซ็นด้า มีด้า อาร์โนลด์ (Ascda. Meda Anold) กับ แวนด้า แซนเดอร์เรียน่า (V. Sanderiana)
  • แอสโคเซ็นด้า จิ้ม ลิ้ม (Ascda. Jim Lim) เป็นลูกผสมระหว่าง แอสโคเซ็นด้า มีด้า อาร์โนลด์ (Ascda. Meda Arnold) กับ แวนด้า เบนโซนิอิ (V. bensonii)
  • แอสโคเซ็นด้า บีวิทเชด (Ascda. Bewitched) เป็นลูกผสมระหว่าง แอสโคเซ็นด้า มีด้า อาร์โนลด์ (Ascda. Meda Arnold) กับ แวนด้า บิล ซัตตัน (V. Bill Sutton)
  • แอสโคเซ็นด้า ซาราวัค (Ascda. Sarawak) เป็นลูกผสมระหว่าง แอสโคเซ็นด้า มีด้า อาร์โนลด์ (Ascda. Arnold) กับ แวนด้าบอร์เนียว(V. Borneo)
  • แอสโคเซ็นด้า ลิเลียน ยูริโกะ นิวิอิ (Ascda. Lilian Yuriko Nivei) เป็นลูกผสมระหว่างแอสโคเซ็นด้า โอฟิเลีย (Ascda. Ophelia) กับ แวนด้าบอสชิอิ (V. Boschii)
  • แอสโคเซ็นด้า แยบ กิม ไฮ (Ascda. Yap Kim Hei) เป็นลูกผสมระหว่าง แอสโคเซ็นด้า โอฟิเลีย (Ascda. Ophelia) กับ แวนด้า เซอรูเลีย หรือ ฟ้ามุ่ย (V. coerulea)

กล้วยไม้สกุลต่างๆ

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง