จากพระราชประสงค์ที่ต้องการให้วัดโพธิ์เป็น สรรพศิลป์ สรรพศาสตร์ นั้นจึงมีสิ่งน่าสนใจให้ชมมากมาย เช่น
พระอุโบสถ
สร้างเมื่อสมัยรัชกาลที่ 1 ตามแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย และได้ขยายใหญ่ขึ้นเท่าที่เห็นในปัจจุบันเมื่อรัชกาลที่ 3 พระประธานเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ นามว่า พระพุทธเทวปฎิมากร ที่ฐานชุกชีบรรจุพระบรมอัฐิและพระสรีรังคารรัชกาลที่ 1 ไว้ด้วย
วิหารคด
ตั้งอยู่มุมกำแพงรอบพระอุโบสถทั้ง 4 ด้าน
พระเจดีย์หมู่ห้าฐานเดียว
สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 ประดิษฐานอยู่ตรงมุมพระวิหารคตทั้งสี่ด้าน ประกอบด้วยพระเจดีย์ใหญ่ตรงกลางล้อมรอบด้วยพระเจดีย์เล็กสี่องค์ รวมห้าองค์อยู่บนฐานเดียวกัน เป็นสถาปัตยกรรมเจดีย์ย่อไม้สิบสองและเจดีย์แบบไม้สิบสองเพิ่มมุม ประดับกระเบื้องเครื่องถ้วยตัด ประดิษฐ์ลวดลายดอกไม้งดงาม ภายในพระเจดีย์ทุกองค์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล
อยู่ในกำแพงแก้วสีขาว พระมหาเจดีย์แต่ละองค์เป็นเจดีย์ย่อไม้สิบสองเพิ่มมุม ประดับกระเบื้องเคลือบและกระเบื้องเครื่องถ้วยเคลือบสีต่างๆ
- องค์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเขียว สร้างในสมัยรัชกาลที่ 1 เพื่อครอบพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่สูง 16 เมตร ได้ชะลอมาจากพระราชวังที่กรุงศรีอยุธยา ภายในบรรจุพระบรมธาตุ นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 1
- องค์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาว สร้างในรัชกาลที่ 3 ทรงพระราชอุทิศถวายแต่พระบรมราชชนก คือรัชกาลที่ 2 นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำรัชกาลที่ 2
- องค์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีเหลือง สร้างในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงพระราชอุทิศถวายเป็นพุทธบูชา นับเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระองค์
- องค์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีขาบ หรือสีน้ำเงินเข้ม รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างขึ้นตามแบบพระเจดีย์ศรีสุริโยทัย กรุงศรีอยุธยา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
พระวิหารพระพุทธไสยาสน์
สร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 3 เพื่อประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ ผนังพระวิหารมีภาพเขียนสีและจารึกเรื่องมหาวงศ์ พระวิหารนี้สร้างขึ้นภายหลังพระพุทธไสยาสน์ซึ่งสร้างขึ้นก่อน องค์พระพุทธไสยาสน์ก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง นับเป็นพระพุทธไสยาสน์ที่งดงามที่สุดในประเทศไทย
ตุ๊กตาจีน
เป็นเครื่องอับเฉาที่ใช้เป็นอุปกรณ์ถ่วงเรือสำเภา ตอนขากลับจากการนำสินค้าไปขายที่ประเทศจีน นับเป็นเสน่ห์ของวัดโพธิ์ รองจากพระพุทธไสยาสน์ที่งดงาม มีทั้งที่สลักจากหินและปูนปั้น เป็นรูปสัตว์ รูปคน ประดับตามลานบริเวณเขตพุทธาวาส
ฤษีดัดตน
เป็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 1 ที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมการแพทย์แผนโบราณและศิลปะวิทยาการครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยาไว้ แต่เดิมปั้นด้วยดิน แต่มาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้หล่อเป็นเนื้อชินอยู่จนถึงปัจจุบัน มีทั้งหมด 80 ท่า ปัจจุบันคงเหลืออยู่ 30 ท่า รูปปั้นฤษีดัดตนเป็นท่าตรงตามหลักโยคะของโยคีอินเดีย เป็นการออกกำลังกายที่ใช้ศิลปะ เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง เป็นตำรากายภาพบำบัดของแพทย์ไทยแผนโบราณ
เขามอ
หรือสวนหย่อม เป็นสวนหินปลูกไม้ประดับที่รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้าง ปลูกต้นไม้ไว้ตามเชิงเขาและบนเขา เขามอมีทั้งหมด 24 ลูก เช่น เขาประดู่ เขาสะเดา เขาอโศก เขาฤษีดัดตน เป็นต้น พรรณไม้ที่ปลูกประดับส่วนใหญ่เป็นพรรณไม้สมุนไพร