โกสน Croton
ลักษณะโดยทั่วไป
โกสนจัดเป็นไม้ประเภทไม้พุ่ม มีขนาดตั้งแต่พุ่มขนาดเล็กจนถึงพุ่มขนาดใหญ่ โดยทั่วไปนิยมปลูกเป็นไม้ประดับในกระถางเพื่อให้มีลักษณะเป็นพุ่มเล็กๆ แต่ถ้าปลูกลงดินและมีอายุหลายปีลำต้นสูงใหญ่เป็นพุ่มขนาดใหญ่ได้เช่นกัน จุดเด่นของโกสนคือเป็นไม้ที่มีใบแปลกไปจากไม้ชนิดอื่นๆ คือ มีรูปร่างลักษณะของใบแตกต่างกันออกไปหลากหลายรูปแบบ มีสีสันของใบหลายสีในใบหรือต้นเดียวกัน ส่วนประกอบของใบ ลักษณะรูปทรงและสี แยกออกได้ดังนี้
ส่วนประกอบของใบ
- พื้นใบ คือส่วนของหน้าใบทั้งหมด
- กระดูกหรือไส้ คือเส้นที่อยู่กลางใบ จากโคนใบไปหาปลายใบ
- หูใบ คือส่วนล่างทั้งสองข้างของกระดูก
- ตะโพกใบ อยู่ถัดจากหูใบขึ้นมาทางปลายใบเล็กน้อย
- สายระโยงหรือสายรยางค์ คือสายเส้นเล็กๆ ที่แตกออกจากหลังใบบริเวณปลายใบ และจะมีแผ่นใบเล็กๆ ที่ปลายสาย
- ปลายใบงอนปากเป็ด คือลักษณะของใบที่ปลายใบมนๆ และคอดไม่เหยียดตรงอาจงอนไปทางใดทางหนึ่ง
- ปลายใบจีบ มีลักษณะคล้ายปลายงอนปากเป็ด แต่ใบจะเหยียดตรงและทีปลายใบทั้งสองข้างจะจีบเข้าหากัน
ลักษณะรูปทรงใบ
- ใบกลม รูปใบมีลักษณะกลมคล้ายใบบัวบก ลักษณะใบเช่นนี้ส่วนใหญ่จะมีสายเปียระโยง
- ใบกลมค่อนข้างยาว มีลักษณะกลมรี ส่วนใหญ่ปลายใบจะกระดกหรืองุ้มขึ้น กลางใบมีทั้งย่นและเรียบ ลักษณะใบเช่นนี้ส่วนใหญ่จะมีสายเปียระโยง
- ใบกลมย่นไหล่ละคร มีลักษณะคล้ายใบกลมค่อนข้างยาว แต่ปลายใบจะกระดกขึ้นมากกว่า กลางใบนูนขอบใบทั้งสองข้างหลุบลู่ลงเป็นรูปหลังเต่าคล้ายเครื่องแต่งกายที่ประดับบนไหล่ทั้งสองข้างของตัวละคร
- ใบกลมตะโพกกว้าง รูปใบลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะมีหูใบผายตะโพกกว้าง ปลายใบเรียวเล็กลงงอนหรืองุ้มขึ้น
- ใบขนาดกลาง ขนาดของใบตั้งแต่ตะโพกถึงบริเวณกลางใบเกือบเท่ากัน ปลายใบเรียวเล็กลงงอนหรืองุ้มขึ้น ตะโพกใบมน
- ใบขนาดกลางปลายใบมน ลักษณะของใบไม่ยาวมากนัก รูปใบไม่บิด ปลายใบมน บางสายพันธุ์ตะโพกใบแคบบางสายพันธุ์ตะโพกใบกว้าง
- ใบแคบยาวตะโพกเล็กปลายใบจีบ ความกว้างหรือแคบของใบวัดที่บริเวณกลางใบ จากริมใบด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ใบลักษณะนี้จะแคบและยาว ปลายใบจีบ
- ใบยาวกลางใบบิด มีลักษณะคล้ายกับรูปใบแคบยาวตะโพกเล็กปลายใบจีบ แต่ช่วงกลางของใบจะบิด
- ใบยาวกว้างหน้าใบเป็นร่องลึกหลังใบนูน เป็นโกสนรูปใบยาว หน้าใบเป็นร่องคล้ายรางน้ำฝน หลังใบนูน
- ใบสามแฉกหรือใบตรี ลักษณะใบเป็นสามแฉกคล้าย อาวุธตรีศูล หรือ ใบสาเก มีทั้งสั้นและยาว
- ใบขนมเปียกปูน โคนใบและปลายใบแหลม กลางใบพองกางออกคล้ายขนมเปียกปูน
การกัดสีของใบ
โดยส่วนใหญ่แล้วใบอ่อนหรือใบน้องที่ผลิออกจากยอดใหม่ๆ ใบจะมีสีเขียวก่อน แล้วจะเปลี่ยนสีของพื้นใบจากส่วนใดส่วนหนึ่งไปเป็นสีอื่นเมื่อใบมีอายุมากขึ้นเป็นใบพี่ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า กัดสี ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วการกัดสีของใบโกสนจะกัดสีจากใบอ่อนสีเขียวมาเป็นสีเหลือง เป็นชมพูอมส้ม และเป็นสีเปลือกมังคุดหรือสีม่วงอมดำตามลำดับ
- กัดสีจากลูกบวบไปหาขอบใบ ที่ด้านหลังของพื้นใบบริเวณกลางใบจะเป็นลอนๆ คล้ายลูกฟูก เรียกว่า ลูกบวบ การกัดสีลักษณะนี้จึงเป็นการกัดสีจากบริเวณกลางใบไล่ไปหาขอบใบ
- กัดจุดประ คือลักษณะของสีที่ต่างกับพื้นใบเป็นจุดเล็กบ้างใหญ่บ้าง แต่ขอบของจุดจะพร่ากลมกลืนกับพื้นใบไม่เห็นขอบชัดเจน
- จุดประ คือลักษณะของสีที่ต่างกับพื้นใบเป็นจุดเล็กบ้างใหญ่บ้าง เห็นเป็นจุดชัดเจน
- กัดสีจากริมใบไปหากระดูก คือลักษณะการกัดสีหรือเปลี่ยนสีจากริมใบไล่เข้ามาหาไส้หรือกระดูก
- ใบแก่หรือใบพี่กัดจากริมใบและไส้หรือกระดูกและพื้นใบจะเปลี่ยนสี เป็นลักษณะการกัดสีจากริมใบและกระดูด เมื่อใบแก่พื้นใบจะเปลี่ยนสี