ว่าน
ไม้ประดับนามมงคล
“ว่าน” คำที่ใช้เรียกนำหน้าชื่อต้นไม้โดยเฉพาะต้นไม้ที่ใช้ประโยชน์ทางด้านสมุนไพรและไม้ประดับบางชนิด ว่านหลายชนิดถูกเรียกว่า “ว่าน” จนติดปากและเป็นที่รู้จักกันมาแต่โบราณ จากการสืบค้นพบว่ามีการกล่าวถึงว่านในหนังสือตำรายาไทยชื่อ แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ รวบรวมโดย พระยาพิศประสาทเวช ในปี พ.ศ.2452 และ หนังสือชื่อ แพทย์ตำบล เล่ม 1 รวบรวมจัดพิมพ์โดย พระยาแพทย์พงศา วิสุธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) ต้นตระกูลสุนทรเวช ในปี พ.ศ.2464 หนังสือทั้งสองเล่มกล่าวถึงว่าน 5 ชนิดเท่านั้นคือ ว่านกีบแรด ว่านนางคำ ว่านหางช้าง ว่านน้ำ ว่านเปราะ
หลังจากปี พ.ศ.2464 เป็นต้นมา ว่านจึงเริ่มเป็นที่แพร่หลาย มีตำราที่กล่าวถึงลักษณะว่าน ตำราที่รวบรวมความรู้เกี่ยวกับว่าน ใน ปี พ.ศ.2476 หลวงประพัฒน์สรรพากร รวบรวมหนังสือชื่อ ตำรากระบิลว่าน จนเป็นที่ยอมรับในหมู่นักเล่นว่านและนับว่าเป็นตำราที่ให้ความรู้เรื่องว่านอย่างสมบูรณ์ที่สุด แม้ราชบัณฑิตสถานยังยอมรับและใช้เป็นหนังสืออ้างอิงในการชำระพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน โดยนิยามไว้ว่า “ว่าน คือพืชที่มีหัวบ้าง ที่ไม่มีหัวบ้าง ใช้เป็นยาบ้าง ใช้อยู่ยงคงกระพันบ้าง” เห็นได้ว่าความหมายตามพจนานุกรม ว่านคือพืชที่มีหัวหรือไม่มีหัวก็ได้ บางชนิดปลูกเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพร เป็นเครื่องรางของขลัง ป้องกันอันตราย พิษสัตว์กัดต่อย ยาเบื่อเมา ยาสั่ง ยาเสพติด สามารถดับพิษร้ายให้หายได้ ว่านแต่ละชนิดมีคุณานุภาพบันดาลให้เกิดผล เกิดโชคลาภ ทำมาค้าขึ้น เงินทองไหลมาเทมา มีคนเคารพนับถือ มีความเชื่อกันว่าการปลูกเลี้ยงว่าน ถ้าทำให้ถูกต้องตามพิธีการ ให้ความสำคัญว่าว่านเป็นของศักดิ์สิทธิ์มีอิทธิฤทธิ์ ก็ต้องมีพิธีมากกว่าการปลูกเลี้ยงธรรมดา เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ปลูกเลี้ยงและเป็นการเพิ่มฤทธิ์ธานุภาพให้แก่ว่าน เช่น เวลารดน้ำต้องเสกคาถากำกับเป็นบทเป็นตอนต่างกันไป สามจบ เจ็ดจบหรือตามอายุของผู้ปลูกเลี้ยงแล้วแต่ชนิดของว่าน การขุดก็ต้องทำในวัน เดือน ต่างๆ กัน ทั้งข้างขึ้น ข้างแรม เช่น การขุดเก็บว่านมักเลือกวันอังคาร วันใดวันหนึ่งในเดือนสิบสองหรือไม่เกินวันพุธข้างขึ้นของเดือนอ้าย เวลาขุดใช้มือตบดินใกล้กอว่านหรือต้นว่าน แล้วเสกคาถาเรียกว่านไปตบดินไปจนจบคาถา จึงคอยขุดนำหัวว่านขึ้นมา
นับจาก พ.ศ.2484 ความนิยมว่านก็ค่อยๆ ห่างหายไป จนกระทั่ง พ.ศ.2500 ความนิยมว่านให้ความสำคัญกับว่านกลับมาอีกครั้งหนึ่ง มีการรวบรวมจัดพิมพ์หนังสือว่านขึ้นมาอีกหลายฉบับ โดยเฉพาะหนังสือ ว่านกับคุณลักษณะ รวบรวมโดย นายเลื่อน กัณหะกาญจนะ จัดพิมพ์จัดจำหน่ายในนามของ สมาคมพฤกษศาสตร์แห่งประเทศไทย เป็นหนังสือที่ได้รับความนิยมจากนักเล่นว่านมาก
ปัจจุบันผู้ที่ให้ความสนใจว่านไม่เพียงชื่นชอบเหมือนผู้เลี้ยงว่านในสมัยก่อนเท่านั้น แต่ยังให้ความสนใจในเรื่องต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในด้านอื่นๆ หลายรูปแบบ รวมทั้งการสนใจว่านในเชิงพฤกษาศาสตร์ ซึ่งมีการจัดแบ่งว่านได้ถึง 34 วงศ์ (Family) 512 สกุล (Genus) และ กว่า 1700 พันธุ์ (Species) มีทั้งว่านที่ให้ประโยชน์ทางยาสมุนไพรรักษาโรค ว่านที่มีชื่อเป็นมงคลนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ ซึ่งมีความเชื่อว่าว่านเหล่านี้เมื่อปลูกเลี้ยงแล้วจะส่งผลให้ทำมาค้าขึ้น นำโชคลาภวาสนา มาสู่ผู้ปลูกเลี้ยง เช่นว่านที่เว็บไซท์ ๑๐๘ พรรณไม้ไทย นำเสนอนี้เป็นเพียงบางส่วนของว่านที่เป็นมงคลนาม มีความสวยงาม และเป็นที่นิยมของผู้ปลูกเลี้ยงทั่วไป
|