มะตูม
ชื่อวิทยาศาสตร์
Angle Marmelos
ชื่อสามัญ
Bael, Bengal Quince, Bilak
ชื่อวงศ์
Rutaceae
ชื่อท้องถิ่น
- ทั่วไป เรียก มะตูม
- ภาคเหนือ เรียก มะปิน
- ภาคใต้ เรียก ตู้, กะทันตา, เถร, ตูม, ตุ่มตัง
- ภาคอีสาน เรียก บักตูม, หมากตูม
- ล้านช้าง เรียก ตุ่มตัง
ลักษณะทั่วไป
มะตูมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ใบใหญ่ยาวสีเขียวอ่อน ลำต้นโตสีค่อนข้างขาว มีหนามแหลมคมและยาว ดอกมีสีขาวกลิ่นหอม ผลกลมโต เปลือกแข็ง เนื้อข้างในมีสีนวลออกทางเหลืองอ่อน มีเมล็ดมาก ยางที่อยู่โดยรอบเมล็ดจะเป็นเมือกเหนียว เนื้อมะตูมจากผลแก่จัดนำมาเชื่อมกับน้ำตาลเป็นมะตูมเชื่อม หรือเอาผลอ่อนมาหั่นบางๆ ตากแดดใช้เป็นชามะตูม โดยต้มเอาน้ำมาดื่ม
การปลูก
ต้นมะตูมป่ามักเกิดตามป่าดงทั่วไป โดยเฉพาะป่าเบญจพรรณ เจริญงอกงามได้ในดินทั่วไปทุกภาค การปลูกนิยมตอนเอากิ่งมาปลูกจะได้ผลดี หรือเอาเมล็ดมาเพาะก็ได้ โดยเอาต้นกล้าที่ปลูกเอาไว้ในถุงพลาสติก รอจนต้นแข็งแรงเสียก่อนจึงเอาไปปลูกในหลุมต่อไป ดูแลรดน้ำเป็นระยะ พร้อมทั้งกำจัดวัชพืช
สรรพคุณทางยา
- เปลือกรากและลำต้น แก้ไขจับสั่น ขับลมในลำไส้
- ใบสดคั้นเอาน้ำแก้หวัด หลอดลมอักเสบ ตาอักเสบ
- ผลดิบหั่นตากแดดแล้วย่างไฟเอามาต้มเอาน้ำดื่มบำรุงธาตุ
- ผลสุกเป็นยาระบาย
คติความเชื่อ
ตามความเชื่อว่าเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่ควรมีไว้ในบริเวณบ้าน โดยปลูกไว้ทาง ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ปลูกร่วมกับไผ่รวก และทุเรียน ถือว่าเป็นเคล็ดลับในชื่อเรียกที่เป็นมงคลนาม จะทำให้เกิดกำลังใจ ให้เกิดความมานะ พยายามที่จะต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคต่างๆ ในชีวิต นอกจากนี้มะตูมยังเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมและพิธีมงคลของไทยการทำน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์ ครอบครูจะใช้ใบมะตูมเป็นองค์ประกอบในพิธี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใช้ใบมะตูมทัดหูให้แก่ทูตที่เข้าเฝ้าเพื่อกราบบังคมลาไปรับราชการต่างประเทศ สำหรับในทางไสยศาสตร์ ชาวฮินดูถือว่าไม้มะตูมเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ และใบมะตูมเป็นใบไม้ที่ป้องกันเสนียดจัญไร และขับภูตผีปีศาจได้